วันอังคารที่ 6 กันยายน พ.ศ. 2559

ตรวจนับสินค้าไปทำไม??!!



ตรวจนับสินค้าไปทำไม??!!

ในการนับสินค้า ก็เพื่อตรวจสอบว่าสินค้าที่เรามีนั้น มีอะไรบ้าง เหลือเท่าไหร่ ตรงกันกับจำนวนที่เรารับเข้า จ่ายออกหรือไม่ ไม่ใช่เพียงแค่นับว่าสินค้าเราเหลืออยู่เท่าไร่แล้วแก้ไขให้ตรงกับที่บันทึก ซึ่งนั่นเท่ากับว่า เราไม่สนใจความถูกผิดของจำนวนสินค้าในสต๊อก ไม่ได้หาสาเหตุของจำนวนสินค้าที่ไม่ถูกต้อง และไม่ได้หาทางป้องกันไม่ให้ปัญหาเกิดขึ้นอีก
การที่สินค้าที่เรานับได้ไม่ตรงกับปริมาณคงเหลือจากการบันทึก มีผลอย่างไร แล้วเราต้องใส่ใจกับมันด้วยหรือ
ตอบง่าย ๆ แบบไม่ใช่กำปั้นทุบดินก็คือ เงินคุณหายไปจากกระเป๋าไง ไม่ว่าจะเป็น
สินค้าที่นับได้ น้อยกว่าที่ควรจะเป็น แสดงว่า ของหาย เพราะถ้าบันทึกถูกต้อง รับเข้า จ่ายออก หักลบแล้ว มันควรเหลือตามที่บันทึก  แต่เหตุไฉน ของที่นับได้ถึงเหลือน้อยกว่า นั่นก็เพราะมีการหยิบไปเกิน หรือมีขโมย!!! หรือ
สินค้าที่นับได้ มากกว่าที่ควรจะเป็น ดูเหมือนว่าจะดี เพราะยังมีของอยู่ ของไม่หาย แต่ลองคิดดี ๆ ว่า ของที่มีมากกว่าที่บันทึก อาจจะหมายถึงการที่คุณหยิบสินค้าส่งให้ลูกค้าไม่ครบจำนวนที่ลูกค้าสั่งมา หรือมีการหยิบสินค้าผิด หยิบตัวอื่นไปส่งให้ลกค้าแทน ลุกค้าได้สินค้าไม่ใช่ตามที่สั่ง ซึ่งทั้งสองอย่าง ไม่ส่งผลดีต่อบริษัทแน่นอน จริงมั้ย
ดังนั้นแล้ว การนับสินค้าแต่ละครั้ง อย่าเพียงแค่นับแล้วเทียบกับที่บันทึก จากนั้นก็แก้ไขให้ตัวเลขตรงกัน แต่ให้วิเคราะห์หาสามเหตุของปัญหา แล้วหาทางป้องกันไม่ใช่เกิดขึ้นอีกในการนับครั้งหน้าด้วย
คำถาม ความถูกต้องของสินค้าคงคลังควรเป็นกี่เปอร์เซ็นต์ ถ้าเทียบกับที่เราบันทึกไว้
คำตอบ ถ้าคุณไม่อยากให้เงินหาย ลูกค้าหด เปอร์เซ็นต์ความถูกต้องของสินค้าคงคลัง คือ 100% นั่นคือ จำนวนที่นับได้ ต้องเท่ากับที่บันทึก
ครั้งต่อไป จะมาบอกเล่าถึงวิธีการทำอย่างไรให้ความถูกต้องของสินค้าคงคลังเป็น 100%

กูรู้ กูรู ลอจิสติกส์ โดย อ.อินทิรา สิทธิเวช

วันศุกร์ที่ 2 กันยายน พ.ศ. 2559

Attendance ของลูกน้อง สำคัญมากแค่ไหน


เรื่องเก่า เล่าใหม่
*******************
Attendance ของลูกน้อง สำคัญมากแค่ไหน

วันนี้เจอเคสที่หัวหน้างานระดับผู้จัดการไม่ทราบว่าลูกน้องหายไปไหน ลูกน้องมาทำงานไม่ครบลูกน้องไม่ลา พอเลยเวลาทำงาน ผู้จัดการไม่โทรตาม HR ถามก็ตอบว่าคงมาสาย แต่พอ HR โทรเช็ค ปรากฏว่าพนักงานขอลากะทันหัน ลูกน้องที่เหลือที่หายไป ผู้จัดการบอกไม่ได้ แต่ให้ HR ไปถามเพื่อร่วมทีมของพนักงานคนนั้น

นี่เป็นสิ่งที่องค์กรต้องการจากผู้จัดการหรือคนที่เป็นหัวหน้างานใช่หรือไม่???

หน้าที่หนึ่งของหัวหน้างาน คือการควบคุมและวางแผนการมาทำงานของลูกน้อง หัวหน้าที่ไม่รู้เลยว่า วันนี้ ลูกน้องมาทำงานครบทีมหรือไม่ พอ HR ตรวจสอบ กลับตอบไม่ได้ เป็นสิ่งที่ไม่ควรเกิดขึ้นในคนที่เป็นหัวหน้างาน

การตรวจสอบการมาทำงานในแต่ละวันของลูกน้อง

1. เพื่อรู้ถึงพฤติกรรมและวินัยในการทำงานของลูกน้อง
2. ลูกน้องคนไหนไม่มา หัวหน้างานควรสามารถวางแผนล่วงหน้าในการหาผู้ทำงานทดแทน เพื่อไม่ให้งานชะงัก
3. กรณีไม่รู้ล่วงหน้า เป็นการลากะทันหัน หัวหน้างานควรทราบถึงขั้นตอน กฎในการติดตามพนักงาน เช่นโทรศัพท์ติดตาม
4. หากพนักงานไม่สามารถทำงานทดแทนกันได้เนื่องจาก work load หัวหน้าควรแก้ปัญหาเฉพาะหน้าในการจัดลำดับความสำคัญของงาน เพื่อลด work load และ focus ที่งานเร่งด่วน

หัวหน้าที่ดีควรจะให้คำตอบแก่ HR แล้วว่า พนักงานคนไหนลา คนไหนขาด มาตรการลงโทษทางวินัยสำหรับลูกน้องที่ไม่ลาล่วงหน้า หรือไม่แจ้งให้ทราบ มิใช่อาศัยความสัมพันธ์ส่วนตัวหรือการอะลุ้มอล่วยด้วยการปิดตา 1ข้าง แต่ละเลยผลกระทบต่อองค์กร

เพราะมันจริง จึงบอกต่อ

กูรู้ กูรู ลอจิสติกส์ โดย อ.อินทิรา สิทธิเวช
https://www.facebook.com/LogisticsGooRoo

วันพุธที่ 31 สิงหาคม พ.ศ. 2559

ทำอย่างไรไม่ให้ขนส่งสินค้าเสียเที่ยว (เสียเวลา เสียพื้นที่ เสียเงิน)


คำถาม ทำอย่างไรไม่ให้ขนส่งสินค้าเสียเที่ยว (เสียเวลา เสียพื้นที่ เสียเงิน)
คำตอบ "ขนไปให้เต็ม ขนกลับไม่ให้ว่าง"
ต้นทุนค่าขนส่ง ขึ้นอยู่กับน้ำมันเชื้อเพลิงที่ใช้ มีบ้างที่ลดลงหรือเพิ่มขึ้นตามน้ำหนักที่บรรทุก
เพราะฉะนั้น ขนสินค้าไปส่งให้ลูกค้าเที่ยวเดียว แล้วต้องวนกลับมาบริษัท ค่าน้ำมันก็คูณสอง แต่กลับได้เงินแค่จากลูกค้ารายเดียว
ดังนั้น ถ้าอยากให้คุ้มกับที่การขนส่งสินค้า ขากลับ ก็อย่าตีรถเปล่ากลับ ขนสินค้าหรือวัตถุดิบกลับมาด้วย เพื่อให้คุ้มกับค่าน้ำมัน
ฝ่ายขายและฝ่ายวัตถุดิบ ช่วยเพิ่มเงินตรงนี้ได้
ง่ายนิดเดียว
กูรู้ กูรู ลอจิสติกส์ โดย อ.อินทิรา สิทธิเวช
https://www.facebook.com/LogisticsGooRoo

วันจันทร์ที่ 29 สิงหาคม พ.ศ. 2559

ฝ่ายวางแผน สำคัญอย่างไร


คำถาม ฝ่ายวางแผนสำคัญอย่างไร
คำตอบ ฝ่ายวางแผน เป็นหน่วยงานสำคัญในการบริหารโลจิสติกส์ มีหน้าที่วางแผนการผลิตและความต้องการวัตถุดิบจากตัวเลขที่ฝ่ายขายบอกว่าต้องมีของให้เขาขายมากน้อยแค่ไหน
.....……
คำถาม แล้วตำแหน่งนี้ ต้องอยู่กับใคร
คำตอบ ถ้าจะให้ดี ตำแหน่งควรขึ้นกับ ผจก.โรงงาน หรืออย่างน้อยก็กับฝ่ายผลิต เพราะงานมีความเกี่ยวข้องกันเป็นส่วนใหญ่
วางแผนดี มีชัยไปกว่าครึ่ง
กูรู้ กูรู ลอจิสติกส์กับ อ.อินทิรา สิทธิเวช

วันพุธที่ 24 สิงหาคม พ.ศ. 2559

เวลามาก เงินหาย เวลาน้อย เงินดี


ในการจัดการต้นทุนทางธุรกิจนั้น ตัวแปรสำคัญที่มองข้ามไม่ได้ 2 ตัว คือ เวลา และ ตัวเงิน ซึ่งสองสิ่งนี้มีความสัมพันธ์กันค่อนข้างมาก มองง่าย ๆ แบบเราทั่วไป ไม่ใช่ธุรกิจก็คือ
.
เก็บเงินลูกค้าได้ช้า เงินเดือนออกช้า โบนัสออกช้า เงินก็ได้ช้า
จ่ายหนี้ช้า จ่ายบัตรเครดิตช้า ก็มีเงินหมุนในกระเป๋ามากขึ้น (แต่ถ้าช้าเกินกำหนด อาจมีดอกเบี้ยงอก จนทำใ้หหนี้งอกขึ้นอีกนะ)
.
ส่วนในทางการบริหารโลจิสติกส์นั้น เวลาและเงินในรูปต้นทุนและยอดขายมีความสัมพันธ์กันอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้
.
- ใช้เวลาผลิตนาน กว่าจะได้ขาย เงินรายได้เข้ากระเป๋าก็น้อยลง
- ใช้เวลาผลิตนาน ก็เผาผลาญทรัพยากรทั้งเวลาและเงินที่จ่ายไปแต่ละวัน เงินก็หายไปจากบัญชีเรื่อย ๆ
- ซื้อวัตถุดิบมาเก็บไว้เยอะ เผื่อไว้ใช้นาน ๆ เงินก็จมไปกับกองวัตถุดิบ
- เก็บสินค้าไว้ ไม่ได้เอาไปขายสักที เงินก็หายไปกับกองสินค้า ที่แทนที่จะเป็นตัวทำเงิน กลับเป็นตัวผลาญเงิน
- สั่งซื้อของ กระบวนการเยอะเหลือเกิน กว่าจะได้ลายเซนก็เป็นอาทิตย์ เอกสารให้กรอกเยอะแยะมากมาย รอของ รอแล้วรอเล่า แต่ไม่ได้ของสักที อดโทษ Supplier ไม่ได้ แต่จริง ๆ แล้วข่้างในกันเองนี่แหละ ยื้อกันให้เสียเวลา ของที่จะเอาไปขายได้เงิน ก็ไม่มี เงินหายซะงั้น
- ประชุมกันเดือนละครั้ง ไตรมาสละครั้ง ความถี่ในการพูดคุยกัน เพื่อหารือแผนความต้องการซื้อของของลูกค้ากับแผนการผลิต น้อยมาก กว่าจะได้เจอกัน เล่นปรับรายวันนอกรอบ ขัดแย้งกัน เกี่ยงกันไปมา ส่งผลให้วัตถุดิบสั่งมาเกินมั่ง ขาดมั่ง ผลิตไม่ทันมั่ง ของผลิตมาแต่ขายไม่ได้ ของที่จะขายก็ไม่ได้ผลิต เงินปลิวออกจากกระเป๋าดั่งรถไฟความเร็วสูง
.
- ผลิตสั้น ๆ ได้ขายเร็วขึ้น เงินเข้ากระเป๋าก็เยอะขึ้น
- เก็บวัตถุดิบแค่พอที่จะได้ใช้ในระยะเวลาที่กำหนดไว้ ไม่นานเกิน ไม่น้อยเกิน เงินสดในมือก็เป็นฟ่อน
- ผลิตมาเก็บไว้พอดีหรือเพียงพอกับที่คาดว่าจะขาย มีเผื่อนิดหน่อยกรณีขายได้เกินกว่าที่คาด เงินเหนาะ ๆ เข้าบัญชีแน่ๆ เซลได้ค่าคอมสบายๆ
- ลดกระบวนการยืดเยื้อในการสั่งซื้อของ ไม่ต้องพิรี้พิไรมาก ให้อำนาจบางระดับจัดการได้เลยที่ระดับจำนวนเงินที่เหมาะสม (empowerment) สบายใจ ไม่ต้องอึดอัด รีบได้ของไปผลิตสินค้า เปลี่ยนเป็นเงินมาดีกว่าเยอะ
- ประชุมหารือแผนการขายกับแผนการผลิตสัปดาห์ละครั้ง แก้ไขแผนได้ไว เงินที่ทำท่าว่าจะหาย ก็เก็บกลับคืนได้ทัน ปลายปี ปลื้มกันทั้งบริษัท โบนัสเห็นๆ
.
ของบางอย่าง อย่าให้เวลากับมันมาก เพราะทำให้เราเสียตังโดยไม่จำเป็น
.
จีบสาวคิดว่าไม่ติดแน่ ๆ ก็เปลี่ยนไปจีบคนอื่นดีกว่า (สาวโสด สวย ๆ มีอีกเยอะ)
ทำงานคิดว่าเงินเดือนไม่ขึ้นแน่ ๆ หางานใหม่ดีกว่า แต่ต้องมั่นใจนะว่าเงินเดือนไม่ขึ้นจากธุรกิจบริษัท ไม่ใช่เป็นที่เราเองที่ไม่ตั้งใจทำงาน ไม่พัฒนาตัวเอง
.
เจ็บใจ มันรักษานานกว่า เจ็บตังในกระเป๋า
กูรู้ กูรู ลอจิสติกส์ โดย อ.อินทิรา สิทธิเวช
https://www.facebook.com/LogisticsGooRoo

วันจันทร์ที่ 22 สิงหาคม พ.ศ. 2559

10 คำถาม ตรวจสุขภาพคลัง - ดูดี หรือ ดูได้



ในแต่ละปี เราเกือบทุกคนจะมีนัดตรวจสุขภาพประจำปี เพื่อเช็คว่าร่างกายเรายังไหว ได้ไปต่อ หรือควรซ่อมแซม เพื่อให้อยู่รอด หรือ ควรทำใจว่าเกินเยียวยา 
.
เมื่อไปถึงจุดตรวจ หมอหรือพยาบาลจะทำการตรวจร่างกายเราเบื้องต้น ก่อนวินิจฉัยว่าร่างกายเราเป็นอย่างไร พบโรคหรือมีแนวโน้มว่าจะเจอโรคหรือเปล่า ถ้าเจอ ก็ส่งต่อไปเพื่อรักษากับหมอเฉพาะทาง ถ้าไม่เจอ ก็ไม่ได้หมายความว่าเราจะอยู่รอด เพราะถ้าไม่รักษาความดีไว้ โรคจะถามหาในการตรวจสุขภาพครั้งต่อไปแน่นอน
.
คลังสินค้าก็เช่นกัน ย่อมต้องมีการตรวจสภาพเป็นประจำเพื่อไม่ให้มัน "เกินเยียวยา" ถ้าพบปัญหาแต่เนิ่น ๆ เราก็จะสามารถรักษามันได้อย่างง่าย ๆ แต่ถ้าเจออาการหนัก ต้องวิเคราะห์ปัญหา และแก้ให้ตรงจุด
.
อย่ากรู้หรือไม่ว่า คลังสินค้าเราแค่ "ดูได้" หรือ "ดูดี"
.
ลองเช็คสุขภาพคลังสินค่าเบื้องต้น กับ 10 คำถามง่าย ๆไม่ต้องยุ่งยาก
.
1. นับสินค้าปีละไม่เกิน 2 ครั้ง ตามรอบการตรวจสอบของบัญชี ใช่หรือไม่
2. ตรวจ 5 ส. ปีละครั้ง ใช่หรือไม่
3. มี Stock card แต่ไม่มีอัพเดท ใช่หรือไม่
4. มี Location tag แต่ชื่อสินค้าไม่ตรงกัน ใช่หรือไม่
5. มีสินค้าผลิตก่อน เก็บไว้ข้างในสุด และไม่เคยหยิบมาใช้ ใช่หรือไม่
6. นับสินค้าแล้วไม่ตรงกับที่บันทึก และทำการแก้ตัวเลขให้ตรงกันทันที โดยไม่ได้ทำ problem solving ใช่หรือไม่
7. ไม่ได้ทำจุดเก็บอุปกรณ์เคลื่อนย้ายให้เป็นสัดส่วน ใช่หรือไม่
8. บันทึกสินค้าเข้า-ออก คลัง แต่ไม่ทุกครั้งไป ใช่หรือไม่
9. ไม่มีการกำหนดวิธีการหยิบสินค้า ใช้วิธีตามที่พนักงานสะดวก ใช่หรือไม่
10. ทุกคนที่ไม่ใช่พนักงานคลังสินค้าสามารถเดินเข้า-ออกคลังได้ตลอดเวลา ใช่หรือไม่
.
หากคำตอบคือใช่ 0 ข้อ แสดงว่า คลังคุณ "ดูดี"
.
หากคำตอบคือใช่ 1-5 ข้อ แสดงว่า คลังคุณแค่ "ดูได้" แต่ยังไม่ "ดูดี"
.
แต่ถ้าตอบว่าใช่มากกว่า 5 ข้อแล้วละก็ นั่นแสดงว่า คลังสินค้าของคุณกำลังเจอโรคที่ต้องพบหมอเฉพาะทางในการรักษา อย่าให้ถึงขนาดเกินเยียวยา รีบพบหมอเร็ว ก็รักษาได้เร็ว
.
นี่เป็นเพียงการตรวจสุขภาพเบื้องต้นเท่านั้น
.
ครั้งหน้า จะมาวินิจฉัยทีละข้อและให้ยารักษาที่ถูกต้อง รับรอง อาการจะดีขึ้น แต่จะหายสนิทหรือไม่นั้น ตัวคุณเท่านั้นที่รู้ดี
.
กูรู้ กูรู ลอจิสติกส์ โดย อ.อินทิรา สิทธิเวช
https://www.facebook.com/LogisticsGooRoo

วันพุธที่ 17 สิงหาคม พ.ศ. 2559

Safety Stock หรือ สต๊อกเพื่อความปลอดภัย กับไข่และนมในตู้เย็น???



Safety Stock หรือ สต๊อกเพื่อความปลอดภัย กับไข่และนมในตู้เย็น???
.
Safety Stock ก็แปลตรงตัวอยู่แล้วว่า สต๊อกเพื่อความปลอดภัย เพราะงั้น ถ้ายังอยากอยู่ในโซนปลอดภัย เราก็ต้องสต็อกสิ่งนั้นไว้เสมอ อย่าให้ขาด
.
เหมือนในตู้เย็นเกือบทุกบ้าน ที่ต้องมีไข่หรือนมไว้เสมอ 
.
ความจำเป็นของสิ่งที่เราจะจัดให้มี safety stock คือตัวตัดสิน
.
ตอบด้วยความเข้าใจอย่างง่ายที่สุดว่า ก็เพราะถ้าเราขาดมันไม่ได้แม้สักวัน เราต้องมีมันอยู่ในทุกวันของเรา
.
แหม่ แจ่ม
.
เช่น บ้านที่มีเด็กเล็ก ยังไงก็ต้องมีนมในตู้เย็น เพราะเด็กต้องดื่มนมทุกวัน
บ้านไหนที่กำลังบิ้วกล้ามเนื้อ ซิกส์แพค หรือลดน้ำหนัก ก็ต้องมีไข่ในตู้เย็น เพราะทานไข่ขาว (ไม่เจาะไข่แดง)
.
เมื่อเป็นสินค้าที่เราขายและเป็นสินค้าที่มีความต้องการของตลาด หรือมีลุกค้ามาซื้อเรื่อย ๆ คู่แข่งก็ขายเหมือนกัน เราจึงต้องการให้มีสินค้าพร้อมขายเสมอเมื่อลูกค้าสั่งซื้อมา เพราะถ้าเราไม่มีให้กับลูกค้า เขาก็อาจจะไปซื้อกับคู่แข่ง และนั่นเท่ากับเปิดโอกาสให้ลูกค้าได้สร้างประสบการณ์กับคู่แข่ง ถ้าลูกค้าเกิดประทับใจคู่แข่ง และเปรียบเทียบกับเรา ยอดขายเราหายแน่ ๆ
.
การมี safety stock ไว้ในคลัง ณ ระดับหนึ่ง จึงมีความจำเป็นกับสินค้าที่ทำรายได้ให้กับเราอย่างสม่ำเสมอและมีความสำคัญ ส่วนสินค้าอื่น ๆ ไม่ต้องทำ safety stock ก็ได้ เพราะไม่มีผลกระทบมากนัก หากเราไม่มีขายเดี๋ยวนั้น (คือลุกค้ารอได้, เราเจรจาส่งช้าได้ ฯลฯ)
.
ไม่ต่างกับเมื่อตอนหนุ่ม ๆ สาว ๆ มีคอลลาเจนเก็บใน stock ร่างกายไว้เพียบ เที่ยวเท่าไหร่ ดื่มจนเมาแค่ไหน ร่างกายก็ยังฟื้นคืนสภาพได้เร็ว
.
แต่พอแก่ตัวไป ไม่มีคอลลาเจนใน Stock ละสิ แค่นอนดึกวันเดียว เช้ามานี่ เหี่ยวชัดเจน ฮาๆๆๆๆ ถ้าไม่เติมคอลลาเจนเป็น safety stock ไว้แต่เดี๋ยวนี้ พอเวลาจะใช้ไม่มี แล้วระวัง...
.
"น้ำตาจะเช็ดหัวเข่า"
.
กูรู้ กูรู ลอจิสติกส์ โดย อ.อินทิรา สิทธิเวช
https://www.facebook.com/LogisticsGooRoo