วันพฤหัสบดีที่ 30 มิถุนายน พ.ศ. 2559

==แบไต๋ 8 เรื่องง่ายในการจัดการสินค้าคงคลัง ตอนที่ 1==




==แบไต๋ 8 เรื่องง่ายในการจัดการสินค้าคงคลัง ตอนที่ 1==

แน่นอนว่าการมีโปรแกรมช่วยในการจัดการสินค้าคงคลัง จะเป็นเรื่องง่ายที่ช่วยคุณอย่างมาก แต่ถ้าไม่มีสิ่งเหล่านี้ ต่อให้คุณเป็นผู้บริหารระดับเทพแค่ไหน คุณก็ปวดกบาลได้เหมือนกัน

เรื่องง่าย ๆ ที่ผู้ชายไม่รู้ เอ๊ย เรื่องง่าย ๆ ที่ใคร ๆ ก็ต้องรู้

การจัดการสินค้าคงคลังระดับเทพ อย่างน้อย ต้องประกอบไปด้วยสิ่งเหล่านี้

1. **การจัดกลุ่มสินค้า**
ของในคลัง ต้องแบ่งสัดส่วนเป็นกลุ่มเป็นก้อนให้ชัดเจนและเข้าถึงง่าย พนักงานคลังควรรู้ว่าอะไรอยู่ตรงไหน เดินไปตรงจุดที่จะหยิบสินค้าได้ถูกต้อง สินค้าประเภทวัตถุอันตราย ประเภทขนาดใหญ่มาก หรือแยกแยะตามชนิดการใช้งานที่ต่างกัน มีป้ายระบุชื่อ-ที่อยู่ให้ดี ก็เหมือนช้อปปิ้งในซุปเปอร์มาร์เกตแหละ ป้ายสินค้า ป้ายราคา ต้องมีติด พื้นที่ไหนว่าง ก็ละเลยไม่ได้ ควรต้องทำป้ายระบุว่า เป็นพื้นที่สำหรับวางอะไร หากไม่ทำป้ายบอกไว้ แม่บ้านอาจเอาไม้กวาด ถังขยะมาวาง หรือพนักงานในคลังเอง มักง่าย เอาอุปกรณ์ที่ไม่ได้ใช้ มาวางระเกะระกะไปหมด ดูไม่มืออาชีพเอาซะเลย

2. **ป้ายระบุสถานที่เก็บ**
บนป้ายระบุสถานที่เก็บ ต้องเขียนด้วยตัวอักษรที่ใคร ๆ ก็อ่านได้ง่าย ความเป็นศิลปินออกแบบตัวอักษร อย่าเอามาใช้ นอกจากนั้น ก็ต้องระบุพิกัดให้ชัดเจนด้วยว่าอยู่แถวไหน ชั้นไหน เช่น A-1-1 หมายถึง แถว A ชั้น 1 ช่อง 1 เป็นต้น
ที่สำคัญ วาดรูปลูกศรชี้ไปตรงสินค้าที่เก็บ จะทำให้มีการตรวจสอบและหยิบสินค้าได้ถูกมากขึ้น

3. **คำอธิบายสินค้า**
สินค้าที่หลากหลายในคลังสินค้า อาจทำให้คนทำงานสับสน บางอย่างก็แตกต่างชัดเจนในเรื่องขนาด บางอย่างก็ใกล้เคียงกันเหลือเกิน แยกแยะไม่ค่อยได้ในเวลาอันจำกัด ซึ่งทำให้หยิบสินค้ามาผิด แล้วต้องเสียเวลากลับไปหยิบใหม่ ถ้ารู้ตัว แต่ถ้าไม่รู้ตัว สินค้าผิด ๆ นั้น ก็จะถูกส่งออกไปให้ลูกค้าแล้วความโชคร้ายก็จะมาเยือนทันที โดนด่ากันระนาวตั้งแต่ผู้บริหารยันพนักงานหยิบของ 

ดังนั้น บนสินค้าแต่ละชนิดต้องจำแนกแจกแจงให้ชัดเจนถึงความแตกต่างจากสินค้าตัวอื่น เช่นสินค้าประเภทเดียวกัน แต่สีต่างกัน ขนาดต่างกัน ก็ต้องระบุสีและขนาดด้วย หากรอบการสั่งซื้อมีผลต่อการขายสินค้า ก็ต้องระบุวันที่สั่งซื้อ

4. **รหัสสินค้า**
นักเรียนทุกคน เมื่ออยู่ในโรงเรียน จะมีรหัสนักเรียน หนังสือทุกเล่มในห้องสมุด ก็จะมีรหัสหนังสือ สินค้าก็เช่นกัน เมื่อมารวมกันมาก ๆ ควรจะมีรหัสเป็นของตัวเอง เวลาค้นหา จะได้ทำได้ง่าย ค้นแล้ว เจอเลย ความยาวของรหัสสินค้า ไม่ควรเกิน 5-6 ตัว เช่น สอน123 สอน124 สอน125

ติดตามตอนต่อไปได้ที่นี่
กับ กูรู้ กูรู ลอจิสติกส์
ขอบคุณข้อมูลจาก http://www.clearlyinventory.com
แปลโดย อ.อินทิรา สิทธิเวช

วันอังคารที่ 28 มิถุนายน พ.ศ. 2559

10 วิธีลดต้นทุนในคลังสินค้า


10 วิธีลดต้นทุนในคลังสินค้า

1. ลดข้อผิดพลาดในการทำงาน ไม่ว่าจะเป็นการหยิบสินค้าผิด ทำให้ต้องไปหยิบใหม่ การเก็บสินค้าผิดที่ ทำให้นับสินค้าไม่ตรงกับในระบบ ต้องเสียเวลานับใหม่ การไม่ยิงบาร์โค้ดเมื่อมีสินค้าเข้าหรือออกจากคลัง คุณลองเก็บข้อมูลดูสิ แล้วจะรู้ว่า สิ่งเหล่านี้ ล้วนแล้วแต่ทำให้เกิดต้นทุนที่อาจมองว่าเล็กน้อยในเรื่องของเวลา แต่หากไม่แก้ไข อาจจะกลายเป็นเรื่องใหญ่ได้

2. ควบคุมอุณหภูมิในคลังสินค้าให้อยู่ในระดับที่เหมาะสม อากาศทุกวันนี้มีการเปลี่ยนแปลง จากที่เคยร้อนธรรมดา กลายเป็นร้อนมาก ซึ่งส่งผลกับสภาพของสินค้าในคลัง ไม่ว่าจะกับตัวสินค้าเอง หรือวัสดุที่หุ้มห่อสินค้าอย่างกระดาษหรือพลาสติก จากสินค้าที่ขายได้ จะกลายเป็น dead stock ไป

3. ลดการเก็บสินค้าในคลัง ด้วยวิธีการส่งผ่านสินค้าที่เรียกว่า Cross Docking ซึ่งเป็นการรับสินค้าเข้าเพื่อกระจายออกไปยังลูกค้าทันที ไม่มีการนำสินค้าเก็บในคลัง การทำ Cross Docking จะช่วยลดต้นทุนได้มากเลยทีเดียว ไม่ว่าจะเป็นต้นทุนการจัดการสินค้าที่อยู่ในคลัง หรือต้นทุนค่าแรงในการเคลื่อนย้ายสินค้าในคลัง

4. ลดการใช้แรงงานสิ้นเปลือง ใช้ทรัพยากรบุคคลที่มีให้คุ้มค่าที่สุด ในบางจุด หากสามารถเปลี่ยนไปใช้ระบบอัตโนมัติได้ จะเป็นการลดต้นทุนที่ดีเยี่ยม อาทิเช่น การใช้รางเลื่อนหรือสายพาน ในการช่วยเคลื่อนย้ายสินค้า เพื่อประหยัดเวลาและแรงงาน

5. ใช้พื่นที่ให้คุ้มค่า สำรวจภายในคลังสินค้าของคุณดูสิว่า บางพื้นที่ คุณจัดเรียงสินค้าอย่างเปลืองพื้นที่มากไปหรือไม่ โดยอาจไม่มีการใช้พื้นที่ในแนวดิ่ง มีเพียงการใช้พื้นที่ในแนวราบ ทำให้พื้นที่ใช้งานไม่พอ หรือสินค้าที่เป็นประเภท Dead stock ไม่ได้กำจัดทิ้งไปทั้ง ๆ ที่เกินกำหนดแล้ว หรือพาลเลทที่ใช้บางอันก็ใหญ่เกินไป ทำให้เปลืองพื้นที่ใช้สอย ควรจะเปลี่ยนเป็นพาลเลทที่มีขนาดเหมาะสม

6. เจรจากับผู้ขายวัตถุดิบ ทุกวันนี้ Supplier อาจส่งสินค้าล็อตใหญ่ให้คุณครั้งเดียว และเป็นภาระคุณในการเก็บวัตถุดิบไว้ในคลัง เกิดต้นทุนการบริการสินค้าคงคลัง ลองเจรจากับ Supplier ให้ทยอยส่งวัตถุดิบให้ อาจนำระบบ MRP หรือ Kanban มาใช้

7. ใช้เทคโนโลยีที่ช่วยให้งานมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น ลดอุปกรณ์รุ่นเก่า ที่ไม่เพียงแต่เปลืองค่าบำรุงรักษา ยังอาจเป็นอันตรายกับผู้ใช้งานด้วย นำโปรแกรมการควบคุมสินค้าคงคลังเข้ามาใช้ เปลี่ยนจากการใช้ระบบคนทำงานเป็นระบบคอมพิวเตอร์ทำงาน

8. ประหยัดพลังงาน ใช้ระบบไฟฟ้าแบบออโตเมติก กำกับควบคุมการใช้ไฟและน้ำจากพนักงาน เปลี่ยนการใช้น้ำมันกับรถโฟล์คลิฟต์ เป็นแก๊ส เปลี่ยนหลอดไฟนีออนเป็นหลอดประหยัดพลังงาน เปลี่ยนกระเบื้องบางแผ่น ให้เป็นแผ่นโปร่งแสง ลงทุนครั้งเดียว แต่ประหยัดค่าใช้จ่ายในระยะยาว

9. กระตุ้นให้พนักงานมีส่วนร่วมในการช่วยกันลดต้นทุน คนทำงานหน้างานทุกวัน จะสังเกตได้อย่างชัดแจ้งมากกว่าว่า ตรงจุดไหน มีการทำงานที่เผาผลาญพลังงานอย่างไร้ค่า ตรงจุดใด ที่สามารถทำงานให้มีประสิทธิภาพด้วยการปรับปรุงงานให้ลดระยะเวลาและลดค่าใช้จ่ายได้

10. ปรับปรุงอย่างต่อเนื่อง ลดการเคลื่อนย้ายที่ไม่เพิ่มประสิทธิภาพในการทำงาน ลดการเสียเสลา ลดสินค้าคงคลังที่ไม่ก่อนประโยชน์ ลดการเก็บสินค้าคงคลังให้น้อยลง แต่ยังคงระดับการบริการลูกค้าที่เท่าเดิมหรือมากขึ้น จัดทำเป็นโครงการปรับปรุงประสิทธิภาพอย่างต่อเนื่อง ไม่ใช่เพียงแค่ต้นปี หรือเมื่อผู้บริหารสั่งเท่านั้น

ขอบคุณข้อมูลจาก http://www.aalhysterforklifts.com.au/
แปลโดย อ.อินทิรา สิทธิเวช

กับ กูรู้ กูรู ลอจิสติกส์

วันเสาร์ที่ 25 มิถุนายน พ.ศ. 2559

Warehouse ที่ใหญ่ที่สุดในโลก


Warehouse ที่ใหญ่ที่สุดในโลก

13,385,378 ตารางเมตร หรือเท่ากับ 1900 สนามฟุตบอล

เมสซี่เจ หรือชับปุยส์ คงวิ่งลิ้นห้อยเลย กว่าจะวิ่งไปยิงถึงประตู

คือ Warehouse ที่เก็บชิ้นส่วนเพื่อประกอบเครื่องบินโบอิ้ง ในเมืองวอชิงตัน ประเทศสหรัฐอเมริกา

เนื่องจากชิ้นส่วนเครื่องบินโบอิ้งมีขนาดใหญ่มาก จึงทำให้คลังที่ใช้เก็บชิ้นส่วนต้องมีขนาดใหญ่ตามไปด้วย
โรงงานประกอบเครื่องบินโบอิ้งเปิดมาตั้งแต่ปี ค.ศ 1967 มีการประกอบเครื่องบินโบอ้ง 747 มาแล้วทั้งสิ้น 1400 ลำ
ทุกคนสามารถเข้าไปเยี่ยมชมโรงงานประกอบโบอิ้งนี้ได้อีกด้วย

ว้าว เดินเข้าไปยืนข้าง ๆ เครื่องบิน เราคงจะกลายเป็นมดตัวเล็ก ๆ ไปเลย

วันพฤหัสบดีที่ 23 มิถุนายน พ.ศ. 2559

ตัวเลขสะดุดตา กับ 37,000,000 ชิ้นต่อวัน



ตัวเลขสะดุดตา กับ 37,000,000 ชิ้นต่อวัน
Amazon.com เป็นเวปไซต์ e-commerce ที่ไม่มีใครไม่รู้จัก เพราะเป็นเวปเซต์ที่มีการค้าขายออนไลน์ที่มากที่สดในโลกเวปไซต์หนึ่งเลยที่เดียว
ในทุกวัน จะมีการสั่งซื้อสินค้ากันมาก เฉลี่ยแล้วถึง 37.000.000 ชิ้นต่อวัน (อ่านว่า 37 ล้านชิ้นต่อวัน) หรือเท่ากับ 428 ชิ้นต่อวินาที
โอ้ พระเจ้าช่วยกล้วยทอด แค่เพียงเรานั่งหายใจทิ้งไปในเสี้ยววินาที สินค้าเกือบครึ่งพันก็มีการซื้อขายกันเรียบร้อยแล้ว
คำถามคือ คลังสินค้าจะต้องกว้างใหญ่ขนาดไหนที่จะบรรจุสินค้าให้ได้มากกว่า 37 ล้านชิ้นต่อวัน และต้องมีกี่คลังสินค้า เพื่อให้เก็บสินค้าได้เพียงพอต่อการส่งสินค้าทันทีที่ลูกค้าคลิกซื้อสินค้า
คำตอบ Amazon มีคลังสินค้าทั่วโลกทั้งหมด 108 คลัง ขนาดเฉลี่ยอยู่ที่ 100,000 ตารางเมตร หรือเท่ากับประมาณ 14 สนามฟุตบอลรวมกัน
มูลค่าซื้อขายอยู่ที่ 74,000,000,000 บาท
แค่นับตัวเลข ก็มึนแล้ว ธุรกิจ e-commerce ถ้ารุ่ง ก็เป็นแบบ Amazon ที่แล
ปล. แต่ที่ร่วง ก็เยอะจนอาจถมที่นาได้เป็นไร่เลยเชียว

วันจันทร์ที่ 20 มิถุนายน พ.ศ. 2559

มีทางเลือกอื่นหรือเปล่า หากไม่พอใจในบริการของไปรษณีย์ไทย?



คำถาม มีแต่ไปรษณีย์หรือ ที่เป็นทางเลือกในการรับ-สินค้า มีทางเลือกอื่นหรือเปล่า หากไม่พอใจในบริการของไปรษณีย์ไทย?
.
.
.
คำตอบ ผู้ให้บริการขนส่งในประเทศไทย นอกจากไปรษณีย์ไทยแล้วยังมี
.
.
1. ผู้ให้บริการรับส่งพัสดุด่วนพิเศษ แน่นอนว่า ก็จะแพงพิเศษ แต่คุณจะได้บริการพิเศษเช่นส่งถึงพรุ่งนี้ก่อน 9 โมงเช้า ก่อนเที่ยง หรือภายในวันรุ่งขึ้น บริการพิเศษนอกจากนี้ คุณควรตรวจสอบกับผู้ให้บริการก่อนทุกครั้ง ตัวอย่างผู้ให้บริการเหล่านี้อาทิเช่น TNT, DHL, Regent, นิ่มซีเส็ง, เคอรี่ เป็นต้น แม้แต่ไปรษณีย์ไทยก็มีบริการนี้
2. ผู้ให้บริการพัสดุชิ้นใหญ่แบบราคาถูกพิเศษ แต่ก็จะได้รับบริการที่ต้องอดทนเป็นพิเศษ (ฮา) เพราะระยะเวลาในการขนส่งจะนานกว่าปกติ บางครั้ง มากกว่า 7 วันทำการ การดูแลและรับประกันสินค้าเสียหายน้อยมากถึงไม่มีเลย (เทียบไปรษณีย์แล้ว ไปรษณีย์เราชนะไปเลย) เหมาะกับการขนส่งของชิ้นใหญ่ หนัก (ดีกว่าจ้างรถเหมา) ผู้ให้บริการเหล่านี้จะอยู่แถบชานเมือง เช่น บริเวณพุทธมณฑล หรือละแวกรังสิต เป็นต้น
3. สายการบิน คุณคงคิดไม่ถึงว่า สายการบิน จะมีบริการรับส่งสินค้าให้ด้วย สายการบินมีบริการมานานแล้ว แต่ไม่ค่อยเป็นที่นิยม แม้ว่าระยะเวลาในการส่งสินค้าจะเร็วมาก (ภายในวันเดียวกัน) สินค้ามีความเป็นไปได้ในการเสียหายน้อย แต่ก็แพงมากถึงมากที่สุด แถมคุณต้องบริการตัวเอง คือไปรับ-ส่งสินค้าที่สนามบินทั้งต้นทางและปลายทางเอง ไม่มีส่งมาให้ที่ถึงประตูหน้าบ้านอย่างไปรษณีย์
4. รถทัวร์ เมื่อในอดีต การฝากส่งสินค้ากับรถทัวร์เป็นที่นิยมพอสมควรในหมู่ผู้ที่ค้าขายในต่างจังหวัด แต่ปัจจุบัน เนื่องจากมีผู้ให้บริการแบบอื่นมากขึ้น รถทัวร์จึงมีผู้ใช้บริการฝากส่งน้อยลง แต่ก็เป็นทางเลือกได้อีกทางหนึ่ง ทั้งนี้ คุณต้องตรวจสอบบริษัทรถทัวร์ก่อนว่า ในเส้นทางนั้น ๆ เขาให้บริการหรือไม่ บางบริษัท ไม่รับบริการเลยก็มี
มีทางเลือกอื่น ๆ อีกมากมายที่คุณสามารถเลือกใช้ให้เหมาะสมกับธุรกิจของคุณ ไม่จำเป็นต้องเป็นไปรษณีย์ไทยอย่างเดียว
อย่างไรก็ตาม ขอแนะนำว่า อย่าได้หงุดหงิดกับข่าวในโซเชี่ยลที่วิจารณ์การขนส่งของไปรษณีย์ไทยที่ทำสินค้าเสียหาย เพราะไม่ว่าคุณจะส่งสินค้ากับผู้ให้บริการใดก็ตาม หากว่าคุณแพคสินค้าไม่ดีสำหรับสินค้าแตกเสียหายง่าย สินค้าคุณก็มีความปลอดภัยน้อยอยู่ดี
คราวหน้า จะมาเล่าสู่กันฟังถึงเรื่องการประกันสินค้าเสียหายเมื่อต้องส่งสินค้าให้ลูกค้าผ่านผู้บริการเหล่านี้
บทความโดย อ.อินทิรา สิทธิเวช ที่ปรึกษาด้านลอจิสติกส์
*********************************************************************************
ลอจิสติกส์ ง่ายนิดเดียว กับ กูรูลอจิสติกส์ ที่ปรึกษาผู้เชี่ยวชาญด้ารคลังสินค้า สินค้าคงคลัง การขนส่งทั้งในประเทศและต่างประเทศ

วันพฤหัสบดีที่ 16 มิถุนายน พ.ศ. 2559

5 คำตอบคลายข้อสงสัย ว่าจะทำของขายเอง หรือจะซื้อมาขายต่อ อันไหนดีกว่ากัน


5 คำตอบคลายข้อสงสัย ว่าจะทำของขายเอง หรือจะซื้อมาขายต่อ อันไหนดีกว่ากัน
1. ต้นทุน อันไหนถูกกว่า ประหยัดกว่า เลือกอันนั้น
2. กำลังการผลิต มีกำลังพอจะผลิตหรือเปล่า ทั้งกำลังกาย กำลังแรงงาน กำลังเครื่องจักร ถ้าออร์เดอร์เข้ามา ผลิตทันรึป่าว ==> ถ้าทำทัน พร้อม ลุยเองเลย
3. คุณภาพ จะขายของ คุณภาพและมาตรฐานต้องดี จะได้ไม่ถูกด่าลงโซเชี่ยล ดังนั้น ของที่จะซื้อมาขาย ควบคุมคุณภาพและมาตรฐานได้มั้ย ==> ถ้าคุมคนที่เราซื้อของมาขายไม่ได้ ทำเองดีกว่า
4. ความเร็ว ตัดสินใจได้เร็วมั้ย (บางคนต้องรอถามคนนู้นคนนี้ก่อน) ซื้อของมาทำได้เร็วหรือป่าว คล่องตัวในการใช้จ่ายเงินหรือเปล่า ==> ถ้ามัวแต่ช้าคู่แข่งเอาไปกินหมด งั้นก็อย่าทำ
5. ความน่าเชื่อถือ ส่งของให้ลูกค้าได้ทันตามที่เขาต้องการมั้ย คุณภาพเชื่อถือได้มั้ย ==> ถถ้าผลิตเองไม่ทัน ส่งของเลื่อนตลอด ซื้อมาขายดีกว่า

วันพุธที่ 15 มิถุนายน พ.ศ. 2559

ลอจิสติกส์กับความคาดหวังของลูกค้า



ลอจิสติกส์กับความคาดหวังของลูกค้า 

3 "ถูก"

1. ถูกต้อง - ส่งของได้ถูกต้องตามที่สั่ง ทั้งสินค้าถูกต้อง ปริมาณที่ถูกต้อง คุณภาพที่ถูกต้อง ผลิตของได้ตรงตามที่เจรจาธุรกิจกัน ไม่มีกั๊ก ไม่มีมั่ว ไม่มีหยวน

2. ถูกเวลา - เสนอขายสินค้าถูกเวลาที่เขากำลังอยากได้ ส่งของได้ถูกเวลาที่เขาต้องการ ไม่มาก่อน (เพราะต้องหาที่เก็บของ) ไม่มาช้า (เหตุผลไม่ต้องอธิบาย รอคำด่าอย่างเดียว)

3. ถูกที่ - ส่งไปตามสถานที่ ตำแหน่งที่ลูกค้าบอก ที่สำคัญ เป็นจุดวางสินค้าที่ลูกค้าของลูกค้ามาหยิบซื้อได้

แค่นี้ ธุรกิจก็ไปได้อีกยาวแล้ว

กูรู้ กูรู ลอจิสติกส์ กับ อ.อินทิรา สิทธิเวช
https://www.facebook.com/LogisticsGooRoo