วันพุธที่ 31 สิงหาคม พ.ศ. 2559

ทำอย่างไรไม่ให้ขนส่งสินค้าเสียเที่ยว (เสียเวลา เสียพื้นที่ เสียเงิน)


คำถาม ทำอย่างไรไม่ให้ขนส่งสินค้าเสียเที่ยว (เสียเวลา เสียพื้นที่ เสียเงิน)
คำตอบ "ขนไปให้เต็ม ขนกลับไม่ให้ว่าง"
ต้นทุนค่าขนส่ง ขึ้นอยู่กับน้ำมันเชื้อเพลิงที่ใช้ มีบ้างที่ลดลงหรือเพิ่มขึ้นตามน้ำหนักที่บรรทุก
เพราะฉะนั้น ขนสินค้าไปส่งให้ลูกค้าเที่ยวเดียว แล้วต้องวนกลับมาบริษัท ค่าน้ำมันก็คูณสอง แต่กลับได้เงินแค่จากลูกค้ารายเดียว
ดังนั้น ถ้าอยากให้คุ้มกับที่การขนส่งสินค้า ขากลับ ก็อย่าตีรถเปล่ากลับ ขนสินค้าหรือวัตถุดิบกลับมาด้วย เพื่อให้คุ้มกับค่าน้ำมัน
ฝ่ายขายและฝ่ายวัตถุดิบ ช่วยเพิ่มเงินตรงนี้ได้
ง่ายนิดเดียว
กูรู้ กูรู ลอจิสติกส์ โดย อ.อินทิรา สิทธิเวช
https://www.facebook.com/LogisticsGooRoo

วันจันทร์ที่ 29 สิงหาคม พ.ศ. 2559

ฝ่ายวางแผน สำคัญอย่างไร


คำถาม ฝ่ายวางแผนสำคัญอย่างไร
คำตอบ ฝ่ายวางแผน เป็นหน่วยงานสำคัญในการบริหารโลจิสติกส์ มีหน้าที่วางแผนการผลิตและความต้องการวัตถุดิบจากตัวเลขที่ฝ่ายขายบอกว่าต้องมีของให้เขาขายมากน้อยแค่ไหน
.....……
คำถาม แล้วตำแหน่งนี้ ต้องอยู่กับใคร
คำตอบ ถ้าจะให้ดี ตำแหน่งควรขึ้นกับ ผจก.โรงงาน หรืออย่างน้อยก็กับฝ่ายผลิต เพราะงานมีความเกี่ยวข้องกันเป็นส่วนใหญ่
วางแผนดี มีชัยไปกว่าครึ่ง
กูรู้ กูรู ลอจิสติกส์กับ อ.อินทิรา สิทธิเวช

วันพุธที่ 24 สิงหาคม พ.ศ. 2559

เวลามาก เงินหาย เวลาน้อย เงินดี


ในการจัดการต้นทุนทางธุรกิจนั้น ตัวแปรสำคัญที่มองข้ามไม่ได้ 2 ตัว คือ เวลา และ ตัวเงิน ซึ่งสองสิ่งนี้มีความสัมพันธ์กันค่อนข้างมาก มองง่าย ๆ แบบเราทั่วไป ไม่ใช่ธุรกิจก็คือ
.
เก็บเงินลูกค้าได้ช้า เงินเดือนออกช้า โบนัสออกช้า เงินก็ได้ช้า
จ่ายหนี้ช้า จ่ายบัตรเครดิตช้า ก็มีเงินหมุนในกระเป๋ามากขึ้น (แต่ถ้าช้าเกินกำหนด อาจมีดอกเบี้ยงอก จนทำใ้หหนี้งอกขึ้นอีกนะ)
.
ส่วนในทางการบริหารโลจิสติกส์นั้น เวลาและเงินในรูปต้นทุนและยอดขายมีความสัมพันธ์กันอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้
.
- ใช้เวลาผลิตนาน กว่าจะได้ขาย เงินรายได้เข้ากระเป๋าก็น้อยลง
- ใช้เวลาผลิตนาน ก็เผาผลาญทรัพยากรทั้งเวลาและเงินที่จ่ายไปแต่ละวัน เงินก็หายไปจากบัญชีเรื่อย ๆ
- ซื้อวัตถุดิบมาเก็บไว้เยอะ เผื่อไว้ใช้นาน ๆ เงินก็จมไปกับกองวัตถุดิบ
- เก็บสินค้าไว้ ไม่ได้เอาไปขายสักที เงินก็หายไปกับกองสินค้า ที่แทนที่จะเป็นตัวทำเงิน กลับเป็นตัวผลาญเงิน
- สั่งซื้อของ กระบวนการเยอะเหลือเกิน กว่าจะได้ลายเซนก็เป็นอาทิตย์ เอกสารให้กรอกเยอะแยะมากมาย รอของ รอแล้วรอเล่า แต่ไม่ได้ของสักที อดโทษ Supplier ไม่ได้ แต่จริง ๆ แล้วข่้างในกันเองนี่แหละ ยื้อกันให้เสียเวลา ของที่จะเอาไปขายได้เงิน ก็ไม่มี เงินหายซะงั้น
- ประชุมกันเดือนละครั้ง ไตรมาสละครั้ง ความถี่ในการพูดคุยกัน เพื่อหารือแผนความต้องการซื้อของของลูกค้ากับแผนการผลิต น้อยมาก กว่าจะได้เจอกัน เล่นปรับรายวันนอกรอบ ขัดแย้งกัน เกี่ยงกันไปมา ส่งผลให้วัตถุดิบสั่งมาเกินมั่ง ขาดมั่ง ผลิตไม่ทันมั่ง ของผลิตมาแต่ขายไม่ได้ ของที่จะขายก็ไม่ได้ผลิต เงินปลิวออกจากกระเป๋าดั่งรถไฟความเร็วสูง
.
- ผลิตสั้น ๆ ได้ขายเร็วขึ้น เงินเข้ากระเป๋าก็เยอะขึ้น
- เก็บวัตถุดิบแค่พอที่จะได้ใช้ในระยะเวลาที่กำหนดไว้ ไม่นานเกิน ไม่น้อยเกิน เงินสดในมือก็เป็นฟ่อน
- ผลิตมาเก็บไว้พอดีหรือเพียงพอกับที่คาดว่าจะขาย มีเผื่อนิดหน่อยกรณีขายได้เกินกว่าที่คาด เงินเหนาะ ๆ เข้าบัญชีแน่ๆ เซลได้ค่าคอมสบายๆ
- ลดกระบวนการยืดเยื้อในการสั่งซื้อของ ไม่ต้องพิรี้พิไรมาก ให้อำนาจบางระดับจัดการได้เลยที่ระดับจำนวนเงินที่เหมาะสม (empowerment) สบายใจ ไม่ต้องอึดอัด รีบได้ของไปผลิตสินค้า เปลี่ยนเป็นเงินมาดีกว่าเยอะ
- ประชุมหารือแผนการขายกับแผนการผลิตสัปดาห์ละครั้ง แก้ไขแผนได้ไว เงินที่ทำท่าว่าจะหาย ก็เก็บกลับคืนได้ทัน ปลายปี ปลื้มกันทั้งบริษัท โบนัสเห็นๆ
.
ของบางอย่าง อย่าให้เวลากับมันมาก เพราะทำให้เราเสียตังโดยไม่จำเป็น
.
จีบสาวคิดว่าไม่ติดแน่ ๆ ก็เปลี่ยนไปจีบคนอื่นดีกว่า (สาวโสด สวย ๆ มีอีกเยอะ)
ทำงานคิดว่าเงินเดือนไม่ขึ้นแน่ ๆ หางานใหม่ดีกว่า แต่ต้องมั่นใจนะว่าเงินเดือนไม่ขึ้นจากธุรกิจบริษัท ไม่ใช่เป็นที่เราเองที่ไม่ตั้งใจทำงาน ไม่พัฒนาตัวเอง
.
เจ็บใจ มันรักษานานกว่า เจ็บตังในกระเป๋า
กูรู้ กูรู ลอจิสติกส์ โดย อ.อินทิรา สิทธิเวช
https://www.facebook.com/LogisticsGooRoo

วันจันทร์ที่ 22 สิงหาคม พ.ศ. 2559

10 คำถาม ตรวจสุขภาพคลัง - ดูดี หรือ ดูได้



ในแต่ละปี เราเกือบทุกคนจะมีนัดตรวจสุขภาพประจำปี เพื่อเช็คว่าร่างกายเรายังไหว ได้ไปต่อ หรือควรซ่อมแซม เพื่อให้อยู่รอด หรือ ควรทำใจว่าเกินเยียวยา 
.
เมื่อไปถึงจุดตรวจ หมอหรือพยาบาลจะทำการตรวจร่างกายเราเบื้องต้น ก่อนวินิจฉัยว่าร่างกายเราเป็นอย่างไร พบโรคหรือมีแนวโน้มว่าจะเจอโรคหรือเปล่า ถ้าเจอ ก็ส่งต่อไปเพื่อรักษากับหมอเฉพาะทาง ถ้าไม่เจอ ก็ไม่ได้หมายความว่าเราจะอยู่รอด เพราะถ้าไม่รักษาความดีไว้ โรคจะถามหาในการตรวจสุขภาพครั้งต่อไปแน่นอน
.
คลังสินค้าก็เช่นกัน ย่อมต้องมีการตรวจสภาพเป็นประจำเพื่อไม่ให้มัน "เกินเยียวยา" ถ้าพบปัญหาแต่เนิ่น ๆ เราก็จะสามารถรักษามันได้อย่างง่าย ๆ แต่ถ้าเจออาการหนัก ต้องวิเคราะห์ปัญหา และแก้ให้ตรงจุด
.
อย่ากรู้หรือไม่ว่า คลังสินค้าเราแค่ "ดูได้" หรือ "ดูดี"
.
ลองเช็คสุขภาพคลังสินค่าเบื้องต้น กับ 10 คำถามง่าย ๆไม่ต้องยุ่งยาก
.
1. นับสินค้าปีละไม่เกิน 2 ครั้ง ตามรอบการตรวจสอบของบัญชี ใช่หรือไม่
2. ตรวจ 5 ส. ปีละครั้ง ใช่หรือไม่
3. มี Stock card แต่ไม่มีอัพเดท ใช่หรือไม่
4. มี Location tag แต่ชื่อสินค้าไม่ตรงกัน ใช่หรือไม่
5. มีสินค้าผลิตก่อน เก็บไว้ข้างในสุด และไม่เคยหยิบมาใช้ ใช่หรือไม่
6. นับสินค้าแล้วไม่ตรงกับที่บันทึก และทำการแก้ตัวเลขให้ตรงกันทันที โดยไม่ได้ทำ problem solving ใช่หรือไม่
7. ไม่ได้ทำจุดเก็บอุปกรณ์เคลื่อนย้ายให้เป็นสัดส่วน ใช่หรือไม่
8. บันทึกสินค้าเข้า-ออก คลัง แต่ไม่ทุกครั้งไป ใช่หรือไม่
9. ไม่มีการกำหนดวิธีการหยิบสินค้า ใช้วิธีตามที่พนักงานสะดวก ใช่หรือไม่
10. ทุกคนที่ไม่ใช่พนักงานคลังสินค้าสามารถเดินเข้า-ออกคลังได้ตลอดเวลา ใช่หรือไม่
.
หากคำตอบคือใช่ 0 ข้อ แสดงว่า คลังคุณ "ดูดี"
.
หากคำตอบคือใช่ 1-5 ข้อ แสดงว่า คลังคุณแค่ "ดูได้" แต่ยังไม่ "ดูดี"
.
แต่ถ้าตอบว่าใช่มากกว่า 5 ข้อแล้วละก็ นั่นแสดงว่า คลังสินค้าของคุณกำลังเจอโรคที่ต้องพบหมอเฉพาะทางในการรักษา อย่าให้ถึงขนาดเกินเยียวยา รีบพบหมอเร็ว ก็รักษาได้เร็ว
.
นี่เป็นเพียงการตรวจสุขภาพเบื้องต้นเท่านั้น
.
ครั้งหน้า จะมาวินิจฉัยทีละข้อและให้ยารักษาที่ถูกต้อง รับรอง อาการจะดีขึ้น แต่จะหายสนิทหรือไม่นั้น ตัวคุณเท่านั้นที่รู้ดี
.
กูรู้ กูรู ลอจิสติกส์ โดย อ.อินทิรา สิทธิเวช
https://www.facebook.com/LogisticsGooRoo

วันพุธที่ 17 สิงหาคม พ.ศ. 2559

Safety Stock หรือ สต๊อกเพื่อความปลอดภัย กับไข่และนมในตู้เย็น???



Safety Stock หรือ สต๊อกเพื่อความปลอดภัย กับไข่และนมในตู้เย็น???
.
Safety Stock ก็แปลตรงตัวอยู่แล้วว่า สต๊อกเพื่อความปลอดภัย เพราะงั้น ถ้ายังอยากอยู่ในโซนปลอดภัย เราก็ต้องสต็อกสิ่งนั้นไว้เสมอ อย่าให้ขาด
.
เหมือนในตู้เย็นเกือบทุกบ้าน ที่ต้องมีไข่หรือนมไว้เสมอ 
.
ความจำเป็นของสิ่งที่เราจะจัดให้มี safety stock คือตัวตัดสิน
.
ตอบด้วยความเข้าใจอย่างง่ายที่สุดว่า ก็เพราะถ้าเราขาดมันไม่ได้แม้สักวัน เราต้องมีมันอยู่ในทุกวันของเรา
.
แหม่ แจ่ม
.
เช่น บ้านที่มีเด็กเล็ก ยังไงก็ต้องมีนมในตู้เย็น เพราะเด็กต้องดื่มนมทุกวัน
บ้านไหนที่กำลังบิ้วกล้ามเนื้อ ซิกส์แพค หรือลดน้ำหนัก ก็ต้องมีไข่ในตู้เย็น เพราะทานไข่ขาว (ไม่เจาะไข่แดง)
.
เมื่อเป็นสินค้าที่เราขายและเป็นสินค้าที่มีความต้องการของตลาด หรือมีลุกค้ามาซื้อเรื่อย ๆ คู่แข่งก็ขายเหมือนกัน เราจึงต้องการให้มีสินค้าพร้อมขายเสมอเมื่อลูกค้าสั่งซื้อมา เพราะถ้าเราไม่มีให้กับลูกค้า เขาก็อาจจะไปซื้อกับคู่แข่ง และนั่นเท่ากับเปิดโอกาสให้ลูกค้าได้สร้างประสบการณ์กับคู่แข่ง ถ้าลูกค้าเกิดประทับใจคู่แข่ง และเปรียบเทียบกับเรา ยอดขายเราหายแน่ ๆ
.
การมี safety stock ไว้ในคลัง ณ ระดับหนึ่ง จึงมีความจำเป็นกับสินค้าที่ทำรายได้ให้กับเราอย่างสม่ำเสมอและมีความสำคัญ ส่วนสินค้าอื่น ๆ ไม่ต้องทำ safety stock ก็ได้ เพราะไม่มีผลกระทบมากนัก หากเราไม่มีขายเดี๋ยวนั้น (คือลุกค้ารอได้, เราเจรจาส่งช้าได้ ฯลฯ)
.
ไม่ต่างกับเมื่อตอนหนุ่ม ๆ สาว ๆ มีคอลลาเจนเก็บใน stock ร่างกายไว้เพียบ เที่ยวเท่าไหร่ ดื่มจนเมาแค่ไหน ร่างกายก็ยังฟื้นคืนสภาพได้เร็ว
.
แต่พอแก่ตัวไป ไม่มีคอลลาเจนใน Stock ละสิ แค่นอนดึกวันเดียว เช้ามานี่ เหี่ยวชัดเจน ฮาๆๆๆๆ ถ้าไม่เติมคอลลาเจนเป็น safety stock ไว้แต่เดี๋ยวนี้ พอเวลาจะใช้ไม่มี แล้วระวัง...
.
"น้ำตาจะเช็ดหัวเข่า"
.
กูรู้ กูรู ลอจิสติกส์ โดย อ.อินทิรา สิทธิเวช
https://www.facebook.com/LogisticsGooRoo

วันจันทร์ที่ 15 สิงหาคม พ.ศ. 2559

คลังสินค้า กับ สินค้าคงคลัง ต่างกันอย่างไร



คลังสินค้า กับ สินค้าคงคลัง ต่างกันอย่างไร
..
เปรียบเทียบง่าย ๆ ก็เหมือนของในตู้เย็นกับตู้เย็นแหละ คลังสินค้าก็คือตู้เย็น สินค้าคงคลัง ก็คือของที่เราเก็บไว้ในตู้เย็น
..
ของที่เราเก็บในตู้เย็น มีทั้งที่เราตั้งใจซื้อมาเพื่อ
..
- ตุนไว้กินนาน ๆ เปรียบได้กับการซื้อวัตถุดิบหรือผลิตสินค้ามาเก็บสต็อคไว้เยอะ เนื่องจากถูกกว่าถ้าสั่งในปริมาณมาก
- กินวันต่อวัน คือสินค้าเคลื่อนไหวเร็ว ซื้อมาขายไปเร็ว ผลิตวันนี้ อีกไม่กี่วันก็ได้ขาย
- อาหารที่ต้องกินทุกวัน เลยต้องมีติดไว้เผื่อเสมอ ไม่เคยขาดจากตู้เย็น เช่นไข่ หรือนม เหมือน Safety Stock
- ของเน่า หรือหมดอายุ ซุกไว้ข้างในจนลืมไปแล้วว่าซื้อมาเมื่อไหร่ หรือซื้อมาแต่ลืมกิน เพราะซื้ออย่างอื่นมาใส่ไว้จนเต็มตู้ ก็คือ Dead Stock นั่นเอง
- ของที่นาน ๆ กินที แต่ต้องมีไว้ เช่น ไวน์ เบียร์ (นาน ๆ กินทีอาจไม่ใช่สำหรับบางคนที่กินดื่มทุกวัน ฮา) น้ำพริก (เอาไว้กินยามยากจน โดยเฉพาะสิ้นเดือนก่อนเงินออก) เทียบได้กับ Slowmove
..
ส่วนตู้เย็น ก็จะมีช่องต่าง ๆ แบ่งแยกตามประเภทอาหาร ภาชนะบรรจุ ลักษณะการเก็บรักษา แบ่งเป็นช่อง ๆ ชั้นๆ แยกกันไป ก็เหมือนคลังสินค้า ที่เรามีการจัดแบ่งพื้นที่ในการเก็บ รวมถึงติดป้ายบอกรายละเอียดและที่เก็บสินค้า ของที่เราเก็บในตู้เย็น บางคนที่มีการจัดการที่ดีจะมีการติดป้ายบอกวันหมดอายุ หรือ่มืออาหารด้วย
..
ตู้เย็นสะอาด หยิบง่าย หาเจอ ไม่มีของเน่าเหม็นให้ต้องชะงักทุกครั้งที่เปิดตู้ เปิดตู้เย็นที่ ก็สบายตา ไม่ต่างกับการจัดการคลังสินค้าให้ดูดี มีระเบียบ ตามสถานะสินค้าในคลังได้ไม่ยาก
..
ของจะล้นตู้เย็นหรือไม่ ของจะขาดเวลาต้องการหรือไม่ อยากจะกินก็ได้กิน ก็อยู่ที่การจัดการของในตู้เย็น วางแผนว่าวันไหนของจะหมด ต้องซื้อมาเติม ไม่ซื้อของมาจำนวนมากจนเกินกว่าที่กินประจำ หรือซื้อมาแต่ไม่รู้จะกินหรือเปล่าเพียงแค่ลดราคา หรือสะสมแสตมป์แลกของ (แม่บ้านชอบนักแล) นี่แหละ คือการจัดการสินค้าคงคลังที่มีประสิทธิภาพ
..
อ่านโพสต์นี้จบแล้ว เดินไปสำรวจตู้เย็นในสำนักงาน หรือในบ้านตนเองดูสิ ว่าคุณจัดการคลังสินค้าและสินค้าคงคลังดีมากน้อยแค่ไหนกัน
..
กูรู้ กูรู ลอจิสติกส์ โดย อ.อินทิรา สิทธิเวช
https://www.facebook.com/LogisticsGooRoo

วันศุกร์ที่ 12 สิงหาคม พ.ศ. 2559

5ส. <==== อย่าทำ


5ส. <==== อย่าทำ

เป็นไปได้ยังไง ที่จะไม่ให้ทำ 5 ส. ในเมื่อทุกครั้งที่แนะนำในเรื่องการปรับปรุงประสิทธิภาพการจัดการคลังสินค้า 1 ในนั้น ก็คือการทำ 5 ส. แต่เหตุไฉนวันนี้ ถึงบอกไม่ให้ทำ...
****
ทุกท่านเข้าใจถูกแล้วค่ะ ว่า ในการทำให้คลังสินค้าเราดีขึ้นกว่าเดิมนั้น สิ่งที่ห้ามพลาดคือการจัดทำ 5 ส. แต่ในขณะเดียวกัน ก็ต้องไม่ทำ 5 ส. ด้วย
ซึ่ง 5 ส. ที่ไม่ควรทำมีอะไรบ้าง
*****
1. ส.สะสม (ตรงข้ามกับสะสาง) – เก็บทุกอย่างไว้ในคลังสินค้า ไม่ว่าจะขายไม่ได้แล้ว หรือ ขายไม่หมด หรือ ผลิตมาเกิน หรือ แผนกนั้นเอามาฝากเก็บ หรือของส่วนตัวผู้บริหารเอาเก็บไว้เพราะไม่อยากให้รกบ้าน หรือ ฯลฯ ทำทุกอย่าง แต่ที่ไม่ทำ คือไม่หาทางระบายสิ่งเหล่านี้ออกจากคลัง ด้วยสาเหตุต้น ๆ แค่คำว่า “เสียดาย” กลัวว่ากำจัดมันแล้ว พอถึงเวลาใช้ หรือลูกค้าดันเกิดอยากได้ (ฝันกลางวัน) แล้วจะไม่มีขายให้ มันก็เลยกลายเป็นของสะสมที่ไม่เกิดมูลค่าใด ๆ กับธุรกิจ และที่สำคัญ เป็นขยะในทางบัญชีด้วย เนื่องจาก ต้องมีค่าใช้จ่ายในการเก็บของพวกนี้ แทนที่จะทำให้เงินงอกเงย กลับกลายเป็น เงินที่ต้องจมลงไปกับขยะสะสม
====================
ส. ที่ถุกต้องคือการ “สะสาง” อะไรที่ไม่ได้ใช้ อะไรที่ไม่เกิดประโยชน์ กำจัดมันออกไป ทิ้งไว้กลางทางน่ะ เข้าใจรึป่าว แบกไว้ก็หนัก ปลดปล่อยภาระซะบ้าง จะเป็นไร
====================
2. ส.สะดุด (ตรงข้ามกับ สะดวก) – เรียกว่าเกิดจากความมักง่าย เอาตัวเองสะดวกเข้าว่า ตรงไหนมีที่ว่าง ตรงไหนทำงานไม่ลำบาก ตรงไหนง่ายและเร็วสำหรับตัวเอง ก็วางของมันตรงนั้น ไม่ได้สนใจว่าจะก่อให้เกิดอุบัติเหตุกับคนอื่นหรือเปล่า แม้แต่ตัวเอง บางครั้งรีบ ๆ ก็สะดุดเอากับของที่ตัวเองวางไว้นั่นแหละ สินค้าไม่มีการจัดแบ่งประเภทให้หาง่าย กว่าจะหาเจอ ต้องค้น คุ้ย รื้อ จนทำให้งานสะดุด เพราะเสียเวลาหาของอยู่ พบเจอบ่อยสุด ๆ ก็ประเภท กล่องเปล่า เศษกระดาษ พลาสติก รถ handlift บันได ไม้กวาด สินค้าที่เพิ่งเข้ามาและยังไม่มีเวลาเก็บ สินค้าที่เกินช่องเก็บของมันและยังไม่หาที่วางเพิ่มเลยวางปะปนกับสินค้าตัวอื่นที่ว่าง ๆ ไปก่อน สาเหตุสำคัญคือคำว่า "เดี๋ยวเก็บ" เพราะมันไม่เคยได้เก็บสักที ฯลฯ ลองเข้าไปเดินดูในคลังสินค้าหรือสโตร์ดูสิ แล้วจะพบว่า เออ จริงว่ะ
====================
ส. ที่ถูกต้อง คือสะดวก นั่นหมายถึง ทุกคนทำงานได้อย่างสะดวกและปลอดภัย (ไม่ใช่เอาตัวเองสะดวก) หยิบจับได้ง่าย แยกสินค้าเป็นประเภทให้ชัดเจน หาง่าย (ไม่ต้องรื้อ ไม่ต้องค้น) ประหยัดเวลา แถมงานที่ได้ ก็มีประสิทธิภาพมากขึ้นอีก
====================
3. ส.สกปรก (ตรงข้ามกับสะอาด) – ส.นี้ชัดเจนมาก เมื่อเกิดการสะสมของ ไม่จัดระเบียบ จนการทำงานต้องสะดุด ฝุ่นตามของที่สะสม พื้นที่เต็มไปด้วยเศษขยะ ก่อให้เกิดปัญหากับสุขภาพคนทำงาน ส.นี้คงไม่ต้องอธิบายมาก รู้ ๆ ถึงผลของการทำสกปรกกันดีอยู่แล้ว
====================
ส. ที่ถูกต้องคือ สะอาด หมั่นทำความสะอาดโดยการปัด กวาด เช็ดถูสถานที่ อุปกรณ์ สิ่งของ เครื่องจักรให้สะอาดน่าดูอยู่ตลอดเวลา ดีกับสุขภาพคนทำงานที่สุด
====================
4. ส.สองมาตรฐาน (ตรงข้ามกับ สุขลักษณะ) เมื่อมีการทำ 3 ส.ที่ถูกต้องแล้ว ไม่ว่าจะเป็นการ สะสาง สะดวก และสะอาด ก็ควรมีการรักษาและปฏิบัติให้ตลอดไป ทว่า ในความเป็นจริง เมื่อไม่มีความเข้มงวดและติดตามการทำ 5 ส. อย่างใกล้ชิด ก็จะเกิดการทำงานสองมาตรฐาน คือบางคนทำได้ บางคนทำไม่ได้, บางแผนกทำได้ บางแผนกห้ามทำ, บางเวลาทำได้ บางเวลาทำไม่ได้ (โดยเฉพาะช่วงที่จะตรวจ 5ส. ตรงตามมาตรฐานทุกอย่าง แต่พอตรวจเสร็จ ก็กลับมาแย่เหมือนเดิม คุ้น ๆ มั้ยครับท่าน) การทำงานที่กำหนดออกมาไม่เป็นมาตรฐาน ทำให้แต่ละคนเกิดความสับสน ว่าอะไรที่ต้องทำกันแน่ งงสิงานนี้
====================
ส. ที่ถูกต้องคือ ส. สุขลักษณะ เมื่อมีการแบ่งความรับผิดชอบของแต่ละแผนกแล้ว ก็ต้องมีการติดตามอย่างใกล้ชิดอยู่เสมอ ทุกแผนก ทุกคน ต้องยึดถือมาตรฐานเดียวกัน รักษามาตรฐานและปรับปรุงให้ดีขึ้น สร้างความจริงใจและตั้งใจในการร่วมกิจกรรม 5 ส. แก่ทุกคน
====================
5. ส. เสียนิสัย (ตรงข้ามกับ ส. สร้างนิสัย) ต่างคนต่างไม่สนใจเมื่อไม่มีมาตรฐาน ต่างคนต่างทิ้ง ต่างคนต่างสะสม ต่างคนต่างละเลย ที่จะร่วมกันทำ 5 ส. เมื่อสิ่งที่ทำมา ไม่ได้เกิดการตระหนักถึงผลที่ดีอย่างไรต่อคนที่ทำ 5 ส.ที่ถูกต้อง นาน ๆ เข้า ก็เกิดการเสียนิสัย ทำในสิ่งที่ตนเองอยากจะทำ หรือง่ายกับตัวเองเท่านั้น จากมาตรฐานที่ถูกต้อง กลับเปลี่ยนไปสู่มาตรฐานที่ตัวเองอยากให้เป็นหรือมาจรฐานที่เกิดจากความเคยชินมองสิ่งที่ผิดกลายเป็นถูกต้อง จนทำให้เกิดปัญหาเดิม ๆ และต้องกลับไปเริ่มนับ 1 ใหม่กันทุกครั้งไป วนอยู่อย่างนี้ไม่สิ้นสุด
====================
ส. ที่ถูกต้องคือ ส. สร้างนิสัย รักษาวินัยในการทำงานตามมาตรฐาน หมั่นตรวจสอบการปฏิบัติงานให้เป็นไปตามระเบียบ กฏเกณฑ์ ข้อบังคับในการทำงาน ทบทวน สร้างความตระหนัก และทัศนคติที่ดีต่อการทำ 5 ส.
====================
จำไว้ว่า นิสัยไม่สามารถสร้างได้ใน 1 วัน แต่ต้องทำต่อเนื่องทุกวันอย่างน้อย 2-3 เดือน เพื่อให้เห็นความเปลี่ยนแปลงไปสู่สิ่งใหม่ที่ดีกว่า
รู้อย่างนี้แล้ว ลงมือทำ 5 ส.ที่ถูกต้อง และ อย่าทำ 5 ส. ที่ผิด ๆ
====================
สะสาง ไม่ใช่ สะสม
สะดวก ไม่ใช่ สะดุด
สะอาด ไม่ใช่ สกปรก
สุขลักษณะ ไม่ใช่ สองมาตรฐาน
สร้างนิสัย ไม่ใช่ เสียนิสัย
====================
กูรู้ กูรู ลอจิสติกส์ โดย อ.อินทิรา สิทธิเวช
https://www.facebook.com/LogisticsGooRoo

วันพุธที่ 10 สิงหาคม พ.ศ. 2559

5 อันตรายในคลังสินค้าที่มักถูกมองข้าม พร้อมวิธีป้องกัน มีอะไรบ้าง


5 อันตรายในคลังสินค้าที่มักถูกมองข้าม พร้อมวิธีป้องกัน มีอะไรบ้าง

1. อุปกรณ์เคลื่อนย้ายสินค้าหนัก เช่น โฟล์คลิฟต์ พนักงานที่ทำงานกับเจ้ารถนี่ทุกวัน จะพยายามหาทางในการใช้งานมันให้ง่ายและเร็วที่สุด จนหลงลืมกฎในการใช้รถโฟล์คลิฟต์ อุบัติเหตุที่เกิดขึ้นในเกือบทุกคลังสินค้า จะต้องมีสาเหตุมาจากความประมาทของการใช้รถประเภทนี้ รวมถึงการใช้บันไดยกสูง ที่พนักงานประมาทด้วยการเลื่อนบันไดขณะยืนบนบันได (เอามือจับเสาชั้นวางของและเลื่อนบันได) โดยไม่ลงมาข้างล่างแล้วค่อยเลื่อนบันไดไปยังจุดถัดไป เพียงแค่คิดว่า เสียเวลา

วิธีป้องกัน ทบทวนกฎการใช้รถโฟล์คลิฟต์เสมอ สอดส่องพนักงานที่มีแนวโน้มจะก่อให้เกิดอันตรายในขณะใช้อุปกรณ์ และไม่บังคับการบรรลุ KPI จนหลงลืมความปลอดภัยในการทำงาน

2. พื้นลื่น ส่วนมากจะเกิดจากฝุ่น หากเป็นหน้าฝน ก็อาจมีความชื้นที่ทำให้เกิดการลื่นล้มได้ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง คลังสินค้าที่ต้องทำงานแข่งกับเวลา หยิบให้เร็ว เก็บให้ไว ทำให้เกิดอุบัติเหตุลื่นล้มได้ง่าย

วิธีป้องกัน ทำความสะอาดเช้า กลางวัน เย็น เพิ่มความถี่ในการทำความสะอาดในช่วงหน้าฝน หรือมีลมพายุ

3. วางของเกะกะ ทำสะดุดล้ม แน่นอน ของชิ้นใหญ่ คงไม่ใช่อุปสรรคจนก่อให้เกิดอุบัติเหตุ เพราะเห็นของวางขวางชัดเจน เราก็มักจะเดินเลี่ยงได้ แต่แม้เป็นชิ้นใหญ่ หากกำลังถือหรือแบกของอยู่ การจะเดินเบี่ยง ก็คงไม่เต็มร้อยเปอร์เซ็นต์ โอกาสเดินเซ จนล้มก็เกิดไม่ยาก ไม่นับกรณีของชิ้นเล็กเช่นสกรู นอต กระดาษ เทปกาว หรือเศษพลาสติกพัน ที่ทำก้นจ้ำเบ้ามานักต่อนักแล้ว

วิธีป้องกัน วินัยพนักงานเป็นเรื่องสำคัญ ดังนั้น 5ส อย่าให้ขาด สะสาง สะอาด สำคัญ (ไม่ใช่สะใจ) การสร้างจิตสำนึกถึงความเสี่ยงในการเกิดอุบัติเหตุและผลกระทบควรทำอย่างต่อเนื่อง

4. การแบก ขนของหนัก พนักงานบางคนคิดเพียงว่า ตนเองแข็งแรง ยกสินค้าได้ง่าย จึงไม่ใช้อุปกรณ์ช่วย รวมถึงยกสินค้าผิดท่า ทำให้เกิดอันตรายกับร่างกาย เช่นหลัง เข่า หรือแขน

วิธีป้องกัน หากกำหนดได้ชัดเจน ให้เขียนป้ายระบุที่กล่องหรือช่องเก็บสินค้าถึงการกำหนดอุปกรณ์ที่ต้องใช้ในการเคลื่อนย้ายเท่านั้น

5. จัดเรียงสินค้าสูงเกินไปหรือไม่ได้ระดับพอดี เนื่องจากของในคลังมีเยอะ ไม่เหลือพื้นที่ให้เก็บ แต่จำเป็นต้องเก็บ ทำให้ต้องเรียงสินค้าในแนวดิ่งให้มากที่สุด แต่อันตรายเกิดขึ้นได้ทันทีหากจัดเรียงไม่เสมอกัน หรือวางไว้สูงเกินกว่าของชั้นล่างสุดจะรับน้ำหนักได้

วิธีป้องกัน จำกัดความสูงของสินค้าในคลังแต่ละประเภท หากจำเป็นต้องเรียงสูง ต้องมีที่กั้นไว้ ไม่ให้สินค้าเอียงล้มลงมาจนก่อให้เกิดอุบัติเหตุได้

ทั้งนี้ทั้งนั้น อุบัติเหตุจากความประมาทเลินเล่อจะไม่เกิดขึ้น แค่เพียงวิธีการป้องกันง่าย ๆ คือ "การทำ 5 ส." ในทุก ๆ วัน

ปัญหาที่เกิดขึ้นในคลังสินค้าส่วนใหญ่ ต้นตอสำคัญอย่างหนึ่งคือการละเลยไม่ทำ 5 ส. กันนั่นเอง

คลังสินค้าคุณล่ะ ล่าสุด คุณทำกิจกรรม 5ส. เมื่อไหร่กัน

กูรู้ กูรู ลอจิสติกส์ โดย อ.อินทิรา สิทธิเวช
https://www.facebook.com/LogisticsGooRoo

วันจันทร์ที่ 8 สิงหาคม พ.ศ. 2559

สต็อกกับความพอใจของลูกค้า


ต้นทุนสินค้าคงคลัง มักจะแปรผันตามระดับการบริการลูกค้าเพื่อเกิดความพึงพอใจสูงสุด ทำไมจึงเป็นอย่างนั้น??

ตามธรรมชาติของมนุษย์ เราทุกคนต้องการได้ในสิ่งที่เราอยากได้ ยิ่งได้เร็ว ได้ก่อน ยิ่งพอใจ ยิ่งมีความสุขมากกว่าการที่ได้ทีหลัง หรือ อยากได้อะไร แล้วไม่ได้

ไม่ต่างกัน เมื่อลูกค้าต้องการซื้อสินค้าอะไรก็ตาม นั่นหมายถึงเขาต้องการในทันทีที่เขาสั่งซื้อ ถ้าไม่ได้ ลูกค้าหลายราย ก็ยกเลิกการสั่งซื้อไป โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ถ้ามีคนขายคนอื่นที่มีของพร้อมให้ ลูกค้าก็ย่อมจะแปรพักตร์ไปหาคนที่ตอบสนองความต้องการได้

แน่นอนว่า นี่ไม่นับรวม กรณีที่สินค้ามีเฉพาะอย่าง หรือสินค้ามีผู้ขายน้อยราย หรือสินค้าราคาถูกมากเมื่อเทียบกับคู่แข่ง

ผู้ขายหรือผู้ผลิตเกือบทุกราย ไม่อยากเสียลูกค้าไป นโยบายส่วนใหญ่ จึงผลิตหรือสั่งของมาไว้ให้พร้อมเก็บในสต็อก เวลามีคำสั่งซื้อ สินค้าก็พร้อมส่งให้ลูกค้าทันที

เมื่อมีของเก็บไว้เยอะเพื่อให้ตอบสนองลูกค้าได้ 100% (คือมีสินค้าพร้อมส่งเสมอ) ก็จะเกิดต้นทุนสินค้าคงคลังขึ้น ยิ่งถ้าคาดการณ์ความต้องการตลาดไม่ถูกต้อง ก็จะเก็บของไว้มากเกินความจำเป็น จนเกิด Dead-stock ต้นทุนจมหายไปกับของที่ขายได้ไม่หมด

ต้นทุนสินค้าคงคลัง ง่าย ๆ มีอะไรบ้าง

1. เงินที่จ่ายซื้อของไป แต่ยังขายไม่ได้
2. ค่าใช้จ่ายในการเฝ้าของที่ยังไม่ขาย เช่น รปภ. ค่าไฟ ค่าน้ำ ค่าพนักงานเฝ้า ค่าเช่าที่เก็บ เป็นต้น
3. ดอกเบี้ยที่เกิดจากการกูยืมเงิน หรือหมุนวงเงินกู้ไปซื้อของก่อน

แต่ผู้บริหารอาจจะชั่งน้ำหนักแล้วว่า ระหว่างเสียลูกค้ากับเสียเงินค่าต้นทุนสินค้าคงคลังที่สั่งมาเกิน ขอเลือกที่จะไม่เสียลูกค้าดีกว่า โดยเฉพาะกับเศรษฐกิจและการแข่งขันสูงอย่างทุกวันนี้

อยากให้ระดับการบริการลูกค้าสูง ก็ต้องเก็บของเยอะ ต้นทุนสินค้าคงคลังก็เยอะ << ฐานะการเงินต้องมั่นคงมาก จนยอมควักกระเป๋ามาจมไปกับของ อย่าได้แคร์

อยากให้ระดับการบริการลูกค้าต่ำ (มีของบ้าง ไม่มีบ้าง ส่งของทันบ้าง ช้าบ้าง เสียลูกค้าให้คู่แข่งบ้าง เสียเครดิตบ้าง) ต้นทุนสินค้าคลังก็ต่ำ จนอาจเหลือ "0" ก็ได้ (เช่น Pre-order) << ความเสี่ยงสูงเชียว แต่ถ้ามั่นใจ จะกลัวอะไร

หยอดไว้นิดนึงว่า หากบริหารต้นทุนโลจิสติกส์ดี ๆ ก็ได้ทั้งระดับการบริการที่เหมาะสมกับระดับสินค้าในคลังได้ ไม่เสียลูกค้า ไม่เสียเครดิต ไม่เสียเงินจม ไมเสียใจ

แค่รู้จักวิธีการจัดการประสิทธิภาพโลจิสติกส์เท่านั้นเอง

ปรึกษาเราสิ

กูรู้ กูรู ลอจิสติกส์ โดย อ.อินทิรา สิทธิเวช
https://www.facebook.com/LogisticsGooRoo

วันพุธที่ 3 สิงหาคม พ.ศ. 2559

ทำไมต้องพยากรณ์ความต้องการของลูกค้า


ทำไมต้องพยากรณ์ความต้องการของลูกค้า

การพยากรณ์เป็นกิจกรรมแรกของการวางแผนโลจิสติกส์ โดยเฉพาะการควบคุมปริมาณสินค้าคงคลัง ของในคลังจะพอขายหรือไม่ ของในคลังจะมีมากเกินไปจนล้นคลังหรือไม่ การคาดการณ์ความต้องการลูกค้าล่วงหน้า จะช่วยบรรเทาปัญหาเหล่านี้

ผู้บริหารควรต้องทราบตัวเลขความต้องการสินค้าของลูกค้า โดยมองจากภาพรวมทั้งหมดแล้วมาแยกย่อยลงในรายตัวสินค้า การพยากรณ์ที่ดีและแม่นยำ จะทำให้องค์กรได้เปรียบคู่แข่ง

แน่นอนว่า เราไม่สามารถพยากรณ์ความต้องการได้ถูกต้อง 100% เพราะลูกค้าและตลาดมีความเปลี่ยนแปลงผันผวนตลอดเวลา แต่การพยากรณ์จะช่วยให้เราเจ็บตัวน้อยกว่าการไม่วางแผนรองรับอะไรไว้เลย ได้แต่ตั้งรับอย่างเดียว

การพยากรณ์ยังช่วยให้เราสามารถกำหนดการใช้ทรัพยากรในโรงงาน ณ ปัจจุบันด้วย ไม่ว่าจะเป็น วัตถุดิบ เครื่องจักร แรงงาน และที่สำคัญที่สุด เงินสดหมุนเวียน การคาดการณ์ไว้ก่อน จะทำให้เราเตรียมความพร้อมทั้งในช่วงที่ออเดอร์น้อยกว่าที่คิด หรือมามากกว่าที่คาด

อยากเหนื่อยแบบสบาย ก็ควรต้องพยากรณ์ความต้องการลูกค้าไว้ แต่ถ้าอยากเหนื่อยสายตัวแทบขาด ก็ปล่อยผ่านไป

เลือกเอานะ ว่าอยากเหนื่อยแบบไหน

กูรู้ กูรู ลอจิสติกส์ โดย อ.อินทิรา สิทธิเวช
https://www.facebook.com/LogisticsGooRoo

วันจันทร์ที่ 1 สิงหาคม พ.ศ. 2559

ทางรอด หรือ ทางเลือก??


ทางรอด หรือ ทางเลือก??

ประเภทของสต็อกในคลัง

1. Active stock คือสต็อกสินค้าที่มีการเคลื่อนไหว หรือยังคงมีการขายได้ในช่วงระยะเวลาที่กำหนดในเวลาใกล้ ๆ แม้จะมีการขายได้น้อยก็ตาม เช่น ในระยะ 6 เดือน ยังคงมีออเดอร์ซื้อสินค้าตัวนี้อยู่บ้าง สต็อกประเภทนี้ ยังคงทำกำไรให้บริษัทได้

2. Slow move คือสต็อกสินค้าที่เคลื่อนไหวช้าหรือขายได้น้อยมากในช่วงเวลาที่กำหนดในเวลาที่นานกว่า active แต่ยังไม่ไกลมาก เช่น ใน 1 ปีที่ผ่านมาสินค้าตัวนี้ มีออเดอร์มาแค่ไม่กี่ชิ้น หรือไม่มีเลย สต็อกประเภทนี้ อาจขายได้แบบขาดทุนกำไร เช่นจัดโปรโมชั่นลดราคา และถ้ายังไม่จัดการ จะมีความเสียงในการขาดทุน

3. Dead stock คือสต็อกสินค้าที่ไม่เคลื่อนไหวและขายไม่ได้อีกแล้วในระยะเวลาเกินกว่าที่กำหนด เช่น สินค้าตัวนี้ ไม่ขายแล้วหรือเลิกขายในตลาดแล้ว สต็อกประเภทนี้ ขายขาดทุนอย่างเดียวหรือขายเป็นขยะ เพื่อได้เงินคืนมาบ้าง (ไม่เป็นศูนย์)

ระยะเวลาในการบอกว่าจะเป็นสต็อกประเภทไหนนั้น ขึ้นอยู่กับช่วงชีวิตของสินค้าในตลาดรวมถึงเทคโนโลยีในการผลิต

ฝ่ายผลิต ฝ่ายขาย และบัญชี ต้องมีการปรึกษาหารือกันว่าควรจะกำหนดระยะเวลาในการพิจารณาว่าจะเก็บนานแค่ไหนถึงยังเรียกว่า Active นานแค่ไหนจะบอกได้ว่า Slow และนานแค่ไหน ควรตัดเป็น Dead โดยต้องอาศุยข้อมูลจากคลังสินค้า ที่ต้องรายงานระยะเวลาที่สินค้านั้นเก็บในคลัง

อยากรู้ว่า บริษัทยังไปต่อได้หรือไม่ ส่วนนึงต้องดูด้วยว่า สต็อกที่เก็บไว้ตอนนี้ มีประเภทไหนมาก

Dead และ Slow คือทางรอด หรือก็แค่ทางเลือก??

ถ้ามีประเภท Active อยู่ในสัดส่วนที่มากกว่า ก็ยิ้มออก

แต่ถ้าประเภท Slow กับ Dead มีเยอะ ก็เตรียมตัวเดดสะมอเร่กันได้เลย

จะฟื้นคืนชีพได้ ก็ต้องจัดการ Dead กับ Slow อย่างด่วน

กูรู้ กูรู ลอจิสติกส์ โดย อ.อินทิรา สิทธิเวช
https://www.facebook.com/LogisticsGooRoo