1. ผู้บริหาร – เป็นปัจจัยสำคัญอย่างแรกที่จะบ่งบอกว่า การจัดการด้านโลจิสติกส์จะสำเร็จหรือไม่ เนื่องจากโลจิสติกส์เป็นกิจกรรมที่เกิดขึ้นในบริษัทที่มีหลาย ๆ ฝ่ายมาเกี่ยวข้องกัน โดยอาศัยการทำงานร่วมกันของทีมงานทุกคน หากว่าผู้บริหารเพียงแค่ให้นโยบายและความคิดรวมถึงความอยากที่จะทำ ทว่าถึงเวลาที่ได้ลงมือทำไปแล้ว เมื่อเจอทางตันที่ต้องการการตัดสินใจหรืออำนาจจากผู้บริหารในการสั่งการ กลับเจอการละเลยหรือเมินเฉย โลจิสติกส์ที่กำลังถูกเคี่ยวให้ข้น ก็คงปล่อยให้ตกตะกอนผ่านไปอย่างเสียเวลา แล้วก็จะต้องมาเริ่มใหม่อีกครั้ง วนลูปไม่มีที่สุดสิ้น เพียงแค่ผู้บริหารไม่ใส่ใจ
2. ทีมงาน – หมายถึงตัวแทนของแต่ละหน่วยงานที่เกี่ยวข้องมาร่วมกันปรับปรุงกระบวนการโลจิสติกส์ในกิจกรรมใด ๆ ก็ตาม อาทิ การปรับปรุงการจัดซื้อ ไม่ได้มีเพียงฝ่ายจัดซื้อ แต่ยังมีฝ่ายผลิต ฝ่ายวัตถุดิบ และฝ่ายบัญชีเข้ามาเกี่ยวข้องด้วย ดังนั้น หากตัวแทนจากแต่ละหน่วยงาน ไม่ได้รับความร่วมมือจากแผนกตนเองในการสนับสนุนข้อมูลและเวลา การทำงานคงจะสะดุดเป็นพัก ๆ ส่งผลให้เกิดความไม่ต่อเนื่องของการทำงาน
3. ข้อมูล – เป็นปัจจัยที่สำคัญที่สุดเลยก็ว่าได้ เนื่องจากโลจิสติกส์เป็นกระบวนการที่ทำงานโดยอาศัยข้อมูลเป็นหลัก หากว่าข้อมูลที่ได้ไม่ถูกต้อง ก็ทำให้การกำหนดแผนการปรับปรุงไม่ถูกไปด้วย หรือหากแต่ละแผนกมีข้อมูลที่ไม่ตรงกัน ก็ไม่สามารถรวมข้อมูลกันได้ เช่น คลังสินค้ามีข้อมูลสินค้าคงเหลือที่ไม่ตรงกับฝ่ายผลิตมี ทำให้ระบบการเติมเต็มสินค้าไม่ถูกต้อง มีสินค้าเหลืออยู่เยอะ ฝ่ายคลังบอกมีน้อย ฝ่ายผลิตผลิตสินค้าเติมในสต๊อก กลายเป็นสินค้าล้นคลัง หรือสินค้ามีเหลือน้อย ฝ่ายคลังบอกมีเยอะ ฝ่ายผลิตไม่ผลิตเติมเต็ม กลายเป็นไม่มีสินค้าส่งให้ลูกค้า สร้างความไม่พอใจให้ลูกค้าไปอีก ดังนั้น กว่าจะได้เริ่มปรับปรุงกระบวนการโลจิสติกส์เพื่อลดต้นทุน ลดเวลาที่สูญเสีย กลับต้องมาใช้เวลามากในการแก้ไขข้อมูลให้ตรงกันทุกฝ่าย
4.ความตั้งใจ – ที่สุดของที่สุด คือหากทุกคนนับแต่ผู้บริหารยันคนทำงาน ไม่มีความมุ่งมั่นตั้งใจในการช่วยกันปรับปรุงกระบวนการโลจิสติกส์เพื่อพัฒนาบริษัทให้มีกำไรมากขึ้น ต้นทุนลดลง แล้วละก็ การจัดการโลจิสติกส์ก็คงไม่ประสบความสำเร็จ เพราะทำคนก็คงทำงานกันแบบเนือย ๆ หรือตามคำสั่ง ไม่ช่วยกันคิด ไม่ช่วยกันหาแนวทางในการปรับปรุง ทุกอย่างก็คงอยู่ที่เดิม
5.การปรับปรุงอย่างต่อเนื่อง – สุดท้ายท้ายสุด โลจิสติกส์ไม่ใช่กิจกรรมที่หยุดนิ่ง ที่วันนี้ปรับปรุงแล้ว พรุ่งนี้จะไม่ต้องปรับปรุง หากจะพูดว่าโลจิสติกส์มีลมหายใจที่ทุกวันแม้เราจะหายใจเหมือนเดิม แต่อากาศที่หายใจเข้าไปไม่เหมือนเดิมก็ว่าได้ การทำงานทุกวันทั้งปี ไม่มีอะไรที่ซ้ำเดิม ความต้องการลุกค้ามีเปลี่ยนแปลง Supplier มีเงื่อนไขใหม่ ๆ การผลิตประสบปัญหาให้แก้ไขทุกวัน ดังนั้น อย่าหยุดพัฒนา อย่าหยุดปรับปรุง และอย่าหยุดนิ่งกับที่ เพราะเมื่อไหร่ที่เราหยุด จะมีคนอีกหลายคนที่ยังคงเดินผ่านเราไปเสมอ
กูรู้ กูรู ลอจิสติกส์ โดย อ.อินทิรา สิทธิเวช
https://www.facebook.com/LogisticsGooRoo
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น