ใครบ้างในบริษัทที่ต้องเกี่ยวข้องกับคลังสินค้า
1. ฝ่ายคลังสินค้า แน่นอน งานหลักตัวเอง จะไม่เกี่ยวข้องได้อย่างไร คงไม่ต้องอธิบายมาก ละไว้ในฐานทีเข้าใจ
2. ฝ่ายขนส่ง ของเข้า-ออกคลัง ก็ต้องมีขนส่ง จะขนเองหรือจ้างคนข้างนอกขนให้ก็ได้ ปกติแผนกนี้ บางครั้ง แฝงตัวเป็น 1 ในพนักงานคลังสินค้าที่ทำหน้าที่อย่างอื่นด้วย เนื่องจากมีปริมาณการขนส่งไม่มากและไม่บ่อย แต่ในหลายองค์กร จะแยกแผนกนี้ออกมาโดยเฉพาะ เนื่องจากต้องมีการติดตามสินค้าให้ถึงมือลูกค้าอย่างปลอดภัยและมั่นใจว่า ลูกค้าได้รับความพึงพอใจในสินค้าที่สั่งซื้อ
3. ฝ่ายขาย สินค้าจะออกจากคลังได้ ต้องได้รับคำสั่งซื้อ ซึ่งหนีไม่พ้นแผนกขาย ของจะล้นคลัง หรือจะไม่พอให้ขาย ส่วนหนึ่งก็มาจากฝ่ายขายนี่แล ว่าจะมีการคาดการณ์ยอดขายแม่นมากน้อยแค่ไหน ถ้าเริ่มต้นคาดการณ์ยอดขายไม่ถูก เช่นคิดว่าจะขายได้เยอะ เลยสั่งมารอไว้มาก ของล้นคลัง หรือคิดแบบดูถูกตัวเอง ว่าคงขายไม่ได้มาก เลยสั่งมาเก็บไว้น้อย พอขายจริง ดันขายเก่ง ขายได้เยอะ ของไม่พอขายซะงั้น ดังนั้น ฝ่ายขายจึงมีความสำคัญกับคลังสินค้ามากโขทีเดียว
4. ฝ่ายวางแผน หากเป็นโรงงาน ฝ่ายนี้มีความสำคัญในการวางแผนจำนวสินค้าที่ต้องเก็บในคลัง จะเก็บมากเก็บน้อย ต้องมีจำนวนของขั้นต่ำไว้มั้ย ซึ่งการจะตัดสินใจได้นั้น ฝ่ายวางแผนต้องมีการประชุมร่วมกันกับฝ่ายขายด้วย
5. ฝ่ายจัดซื้อจัดหา อุปกรณ์ เครื่องทุ่นแรง เครื่องไม้ เครื่องมือใช้สอย ต้องอาศัยฝ่ายนี้ในการจัดซื้อจัดหามา
6. ฝ่ายบุคคล หัวใจสำคัญอีกหน่วยงานหนึ่งต่อความอยู่รอดของคลังสินค้า
7. ฝ่ายบัญชี จำนวนสินค้าที่ต้องรายงานต่อกรมสรรพากรเมื่อยามต้องมีการตรวจนับสินค้าให้ตรงกับรายงานที่ส่งให้กรม ก็ต้องฝ่ายนี้แผละที่เข้ามาเกี่ยวข้อง แถมสำคัญซะด้วย เพราะถ้าจำนวนสินค้าเข้า-ออกมาทั้งปี ไม่ตรงกันแล้วละก็ ต้องหยุดกิจกรรมทุกอย่าง และมีตรวจหาสาเหตุกันยกใหญ่เลยทีเดียว (ถ้าไม่อยากยุ่งยากแล้วละก็ คลังสินค้า ต้องบันทึกสินค้าเข้า - ออก อย่าให้หลุดแม้สักชิ้นเดียว)
8. ฝ่ายบริหาร คลังสินค้าจะเดินหน้าไปได้อย่างดีหรือไม่ นโยบายจากฝ่ายบริหารมีความสำคัญมาก บางองค์กรเห็นคลังสินค้าเป็นหน่วยงานไม่สำคัญ แท้ที่จริงแล้ว ทุนหาย กำไรหด สินค้าไม่ครบ สินค้าหาย ของดีกลายเป็นของเก่าเก็บ คลังสินค้าเกี่ยวข้องด้วย ลูกค้าจะพอใจใช้บริการต่อหรือไม่ คลังสินค้าก็มีส่วนช่วยกำหนด ฝ่ายนี้จึงมีความเกี่ยวข้องเป็นอย่างยิ่งในการกำหนดทิศทางธุรกิจ ต้นทุนที่เกิดขึ้น (ให้ไม่จม) เพิ่มความพึงพอใจลูกค้า (ให้ลูกค้าได้รับของถูกต้อง ถูกที่ ถูกเวลา)
กูรู้ กูรู ลอจิสติกส์ โดย อ.อินทิรา สิทธิเวช
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น