วันอาทิตย์ที่ 31 กรกฎาคม พ.ศ. 2559

ไม่รู้ เลยไม่ทำ หรือรู้ แต่ไม่ทำ


คำตอบที่มักจะได้ เวลาสอบถามโรงงานว่า อยากเพิ่มประสิทธิภาพการจัดการด้านลอจิสต์มั้ย ทุกทีจะตอบทันทีว่า "อยากมากกกก!!!"

ที่ปรึกษาฟังแบบนี้ก็รู้สึกได้ถึงความตั้งใจ แต่เมื่อให้คำปรึกษาพร้อมขั้นตอนในการปรับปรุงต่าง ๆ ไปแล้ว คำตอบที่ได้ยินกลับมาคือ "ไม่มีคนพอที่จะลงมาทำตรงนี้อ่ะอาจารย์"

แป่ววววววว!!!

มันน่าตีนักเชียวกับประโยคที่ได้ยินแบบนี้ เพราะ

- ไม่มีคนจริงเหรอ ในเมื่อคนทำงานเต็มโรงงาน
- ไม่มีคนจริงเหรอ ในเมื่อทุกคนมีความเกี่ยวข้องกับงานนี้
- ไม่มีคนจริงเหรอ ในเมื่อทุกคนอยากทำ
- ไม่มีคนจริงเหรอ หรือแค่ทุกคนไม่อยากลำบาก
- ไม่มีคนจริงเหรอ หรือเพราะเพราะต้องเน้นผลิตให้ทัน
- และ ไม่มีคนจริงเหรอท่านผู้บริหาร ถามใจตัวเองดู???

การไม่มีคนเพียงพอในการปรับปรุง เพราะผุ้บริหารไปเน้นที่การผลิตสินค้าให้ส่งให้ลูกค้าได้ตามที่ลูกค้าต้องการ กลัวเสียออร์เดอร์ เสียลูกค้า เวลาทั้งหมดจึงไปอยู่ที่การทำงานบนปัญหาที่ยังไม่แก้ไข รู้นะ แต่เอาไว้ก่อน ขอรับเงินก่อน เดี๋ยวค่อยว่ากัน

ในขณะที่ปัญหามีเจออยู่ทุกวัน ไม่ว่าจะเป็น งานผลิตไม่ทัน ของผลิตออกมาไม่ได้ขาย แต่ของที่อยากจะขายกลับไม่มี ส่งของไม่ได้ ลูกค้าไม่พอใจ คู่แข่ง(อย่างจีน)มาแรง กำลังจะแซงเราไปหลายขุม เงินจม เงินหายไปกับเรื่องพวกนี้ตั้งมากแล้ว

ถ้าอย่างนั้น ก็ขอฝากคำถามกลับคืนไปว่า

เงินที่ได้มาน่ะ เอามาจ่ายให้กับตัวปัญหาไปมากแค่ไหน

หรือว่าเงินที่ได้มา เอามาหมุนวน ๆ จนไม่รู้ว่า ตัวเองติดลบกำไรอยู่หรือเปล่า

อยากได้เงินเพิ่ม หรืออยากเสียเงินไปเรื่อยๆ????

ลอง balance ดู ว่าตอนนี้ ฝั่งไหนเอียงไปมากกว่ากัน

ถามกันตรง ๆ แบบนี้แหละ ง่าย ๆ

กูรู้ กูรู ลอจิสติกส์ โดย อ.อินทิรา สิทธิเวช
https://www.facebook.com/LogisticsGooRoo

วันพฤหัสบดีที่ 28 กรกฎาคม พ.ศ. 2559

ตัวอย่างแผนการปรับปรุงการจัดการคลังสินค้า


ปัญหาที่หลาย ๆ คนกำลังประสบอยู่ไม่ใช่เพียงแค่ไม่รู้ว่าคลังมีปัญหา กลับเป็นว่า รู้ว่ามีปัญหา แต่ไม่รู้จะเริ่มแก้ปัญหายังไง

วิธีการแก้ปัญหาแบบง่าย ๆ คือการทำ ส. ตัวแรก ใน 5 ส. นั่นคือการสะสาง และค่อยทำสะดวกแล้วจึงสะอาด

สะสางในที่นี้คือการแจกแจงงานที่ทำอยู่ตอนนี้ พื้นที่ที่เราใช้งานทุกวัน มองมันออกมาให้เห็นภาพว่าเราทำอะไรกันอยู่ ถูกผิดไม่ว่ากัน แต่เอาที่ทำงานตามจริง

จากนั้นค่อยมาจัดหมวดหมู่งาน ไม่ว่าจะเป็นหมวดหมู่สินค้า หรือหมวดหมู่ของสถานที่เก็บ จะเก็บอะไรตรงไหนที่ทำให้เราสะดวกในการเข้าถึง ไม่ใช่พอระบุที่เก็บแล้ว แต่หยิบของกันยากเหลือเกิน อันนี้ ก็แทนที่จะแก้ปัญหา กลับเพิ่มปัญหา แล้วที่สุด ก็กลับไปสู่วงจรเดิม ๆ

หากเจอปัญหา ก็ขอให้เป็นปัญหาใหม่ ๆ ที่ทำให้เราได้ทำ "Kaizen" กันมากกว่า "ใครเซ็ง"

เมื่อสะสางและเห็นทางสะดวกในการทำงานและสร้างความสะอาดของคลัง ก็มาลงมือเขียนกระบวนการทำงานที่ใช่สำหรับคลังของเรา (ไม่ใช่คลังของใคร)

อย่าเอากระบวนการคนอื่นมาใช้กับเราโดยไม่ดูตัวเราเอง เพราะเราทำงานไม่เหมือนกัน ขอให้ตั้งเป้าหมายสำคัญในการจัดทำกระบวนการ คือการตอบสนองลูกค้าให้ได้ 4 ถูก คือถูกต้อง ถูกที่ ถูกเวลา และถูกใจ

การปรับปรุงสินค้าในคลัง ไม่สามารถทำได้คนเดียว หรือแค่ทีมเดียว แต่ต้องเป็นความร่วมมือของทุกฝ่าย ไม่เฉพาะฝ่ายคลัง แต่หมายถึงคนอื่น ๆ ที่ต้องเกี่ยวข้องกับคลังด้วย เข้านอกออกใน ทำให้ถูกกฏระเบียบ

ซึ่งเป็น ส. สุดท้ายที่ทำให้การปรับปรุงไม่จบไม่สิ้น ส.นิสัย นั่นเอง

แต่อยากจะบอกว่า อย่าเพิ่งไปกลัว ส. สุดท้าย ขอแค่ให้เริ่มทำ 3 ส. แรกให้ได้ก่อน

เพราะถ้าไม่เริ่มนับ 1 ก็ไม่มีวันนับถึง 10

กูรู้ กูรู ลอจิสติกส์ โดย อ.อินทิรา สิทธิเวช
https://www.facebook.com/LogisticsGooRoo

วันอังคารที่ 26 กรกฎาคม พ.ศ. 2559

ตัวอย่าง KPI ในคลังสินค้า


มีหลายคนถามเข้ามาเยอะมากว่า ในคลังสินค้า ควรจะมี KPI อะไรในการวัดผลการทำงานได้บ้าง วันนี้เลยขอแชร์ตัวอย่าง KPI 5 ด้าน 5 กิจกรรมและอีก 1 ภาพรวม

องค์กรส่วนใหญ่ มักจะวัดผลการทำงานของคลังตามแบบที่ฝ่ายบุคคลจะมีนิยามและกำหนดมาให้ แต่นั่น ไม่ใช่การวัดผลการทำงานจริง ๆ ของคลังสินค้า

การวัดว่า คนทำงานในคลัง ทำงานดี ไม่ดีนั้น ควรวัดที่กิจกรรมหลักในคลังสินค้า ซึ่งก็ได้แก่

- การรับสินค้าเข้า (Receiving) เช่น ความถูกต้องในการรับสินค้า และระยะเวลาที่ใช้ในการรับสินค้าเข้า
- การเก็บสินค้า (put-away) เช่น เก็บสินค้าถูกที่ และรวดเร็ว
- การเก็บรักษาและการใช้พื้นที่ (Storage) เช่น พื้นที่ใช้ประโยชน์ และระยะเวลาในการเก็บสินค้าคงคลัง
- การหยิบสินค้า (Order Picking) เช่น การหยิบสินค้าได้ถูกต้องและระยะเวลาในการหยิบ
- การจัดส่ง (Shipping) เช่น จัดสินค้าถูกต้องตามใบสั่งซื้อ และการจัดวางสินค้าในจุดที่กำหนดเพื่อจัดส่งได้ตรงกับเส้นทางการจัดส่ง

นอกเหนือจากนั้น หัวใจสำคัญของการดูแลคลังสินค้าคือ 5 ส. ดังนั้นแล้ว ควรจะมี KPI ในด้านนี้ด้วย

แน่นอนว่า KPI ด้านอื่น ๆ อย่าง Competency โดยเฉพาะอย่างยิ่ง การสื่อสาร เนื่องจาก กิจกรรมต่าง ๆ ในคลังสินค้า ความเชื่อมโยงของข้อมูลและการประสานงานมีความสำคัญไม่น้อย ความสามารถในการสื่อสารและกระสานงานกับผู้อื่นจึงควรอยู่ในระดับที่ดีพอสมควร

คลังสินค้าจะมีผลงานที่มีประสิทธิภาพที่ดีหรือไม่ คนทำงานต้องสื่อสารและประสานงานกับคนอื่นรู้เรื่องด้วย

กูรู้ กูรู ลอจิสติกส์ โดย อ.อินทิรา สิทธิเวช
https://www.facebook.com/LogisticsGooRoo

วันอาทิตย์ที่ 24 กรกฎาคม พ.ศ. 2559

เก็บของไว้ทำไม ถ้าไม่ได้ใช้แล้ว???!!!!


เก็บของไว้ทำไม ถ้าไม่ได้ใช้แล้ว???!!!!

ไม่ว่าจะเป็นคลังวัตถุดิบหรือคลังสินค้า มักจะพบอยู่บ่อย ๆ ว่า หลาย ๆ องค์กรเก็บของที่ไม่ได้ใช้แล้วไว้ เพียงเพราะ

1. ยังไม่มีเวลาไปเคลียร์ (ยังดีหน่อย แสดงว่ารู้ว่าต้องกำจัด)
2. เผื่อจะได้เอามาใช้อีก (อันตรายมาก เผื่อเพื่ออนาคต)

แค่ 2 เหตุผลข้างต้น ก็ทำให้รู้เลยว่า ผู้บริหารมีเงินสำรองอยู่เยอะ ไม่สนใจที่จะกำจัดของไม่ใช้แล้ว เลยเก็บเอาไว้ดูต่างหน้า (หรือยังไง)

เชื่อหรือไม่ว่า ต้นทุนที่ต้องเก็บของไม่ใช้แล้วเนี่ย ไม่ว่าจะเป็นการจ้างพนักงานมาเฝ้าของเก่า (เป็นปู้่โสมเฝ้าทรัพย์ - คนรุ่นใหม่ทันกันมั้ย) เสียพื้นที่เก็บของดี (จนต้องขยับขยายที่ใหม่) ค่าไฟ นู่นนี่นั่น ลองคำนวณดูเล่น ๆ เผลอ ๆ ค่าใช้จ่ายแต่ละเดือนที่จ่ายไปกับของไม่ใช้แล้ว อาจทำให้คุณผงะได้ ต้นทุนกลายเป็นเงินจม ที่มันอาจทำให้คุณไม่คล่องตัวในการบริการลูกค้าก็ได้

เอ๊ะ แล้วมันเกี่ยวกันยังไง

อ้าว ก็แทนที่จะมีเงินมากขึ้น เพื่อมาพัฒนาเทคโนโลยีเอย มาเพิ่มพนักงานผลิตให้มากขึ้น มีของขายมากขึ้น ได้โบนัส ได้ขึ้นเงินเดือน บลา บลา ก็กลับกลายเป็นจำกัดเงินในกระเป๋าไปซะนี่

มีโอกาสเพิ่มเงินในกระเป๋า กลับละเลยมันไปซะงั้น

ของตายแล้ว หรือใน Logistics เรียกว่า Dead stock นี่ ไม่ได้เกิดประโยชน์กับชีวิต กำจัดมันไปเถอะ ไม่ต่างอะไรกับ คนรักเก่า ที่หมดรักเราแล้ว เก็บไว้ในใจก็รังแต่จะทำตัวเองเจ็บปวด ปล่อยเขาไป (มาเรื่องนี้ได้ไง)

มองหาคำตอบให้กับคำถาม "ของเลิกใช้แล้ว เก็บไว้ทำไม?" "ที่บอกว่าเผื่อได้ใช้นี่ จะเอาไปทำอะไร เขียนแผนและลงมือทำจริงได้มั้ย?"

ถ้าคุณตอบไม่ได้ นั่นหมายความว่า คุณต้อง "กำจัด" มันทิ้ง

หาเวลาจัดการซะและสำคัญที่สุด

อนาคตถ้าคุณมองไม่เห็น "จงอย่าเผื่อปัจจุบันเพื่อมัน"

กูรู้ กูรู ลอจิสติกส์ โดย อ.อินทิรา สิทธิเวช
https://www.facebook.com/LogisticsGooRoo

วันพฤหัสบดีที่ 21 กรกฎาคม พ.ศ. 2559

เขียน logistics flow


ในการเริ่มต้นปรับปรุงกระบวนการลอจิสติกส์เพื่อลดต้นทุนในองค์กรนั้น คุณต้องทราบถึงเส้นทางการไหลลอจิสติกส์หรือ Logistics Flow ซะก่อน โดยควรทำ 2 กระบวนการเคียงคู่กันนั่นคือ

Information Flow และ Material Flow

อย่างที่ได้เขียนไปในโพสต์ก่อนหน้าว่า ในกระบวนการของโซ่อุปทาน หรือ ซัพพลายเชนนั้น มีการไหล 3 อย่างคือ

Financial Flow
Material Flow
Information Flow

โดยการทำ Flow 2 แบบหลังนั้น เพื่อจะให้เราได้มองเห็นว่า การเชื่อมโยงของแต่ละจุดทำงาน มีความเชื่อมโยงกันอย่างไร เพื่อที่จะได้ แงะ แคะ แกะ เกา ว่าจุดใดที่ทำให้ลอจิสติกส์ของเราเปลืองต้นทุนโดยใช่เหตุ

ผังกระบวนการต้องเริ่มนับแต่วัตถุดิบเข้ามาอย่างไร นับแต่มีออเดอร์หรือก่อนมีออร์เดอร์ (Make to Order, Make to Stock? โอกาสหน้าจะมาเขียนให้อ่านกันว่ามันค่างกันอย่างไร) จนกระทั่งสินค้านำขึ้นรถเพื่อส่งให้ลูกค้า ควบคู่ไปกับว่า ข้อมูลจากลูกค้าส่งต่อ/ประสานงานไปยังแต่ละหน่วยงานครบถ้วนทุกแผนกหรือไม่

ทั้งนี้ การวาดผังกระบวนการไม่ควรอย่างยิ่งที่จะให้แผนกใดแผนกหนึ่ง หรือคนใดคนหนึ่งทำขึ้นมา แต่ต้องทำร่วมกันในทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง แน่นอนว่า แผนกวางแผน หรือแผนกลอจิสติกส์จะเป็นผู้นำหลักในการจัดทำขึ้น

หากคุณเป็นผู้บริหาร คุณจะรู้ได้ทันทีเลยจากกิจกรรมและผังกระบวนการนี้ว่า

"เลือดคุณไหลออกจากตัวได้อย่างไร"

ย้ำว่า นี่มิใช่การทำผังคนทำงาน แต่คือการทำผังกระบวนการ

อย่าชี้เป้าที่รายบุคคล แต่ให้ชี้ไปที่กระบวนการ

จำไว้!!

กูรู้ กูรู ลอจิสติกส์ โดย อ.อินทิรา สิทธิเวช
https://www.facebook.com/LogisticsGooRoo

วันอังคารที่ 19 กรกฎาคม พ.ศ. 2559

เปิดกล่องออกมา ไอโฟนจอแตกร้าว เคลมได้เท่าไหร่


เปิดกล่องออกมา ไอโฟนจอแตกร้าว เคลมได้เท่าไหร่

สินค้าที่ส่งกับผู้รับขนส่ง เขารับประกันความเสียหายให้เราหรือเปล่า

สินค้าราคาแพง อย่างไอโฟน เขาชดใช้ตามราคาจริงที่เราซื้อมาหรือเปล่า

คำตอบ

ผู้รับขนส่งโดยทั่วไป อย่างเช่น ไปรษณีย์ DHL TNT FedEx นั้น จะมีการรับประกันความเสียหายอยู่ที่เฉลี่ยประมาณ 2000 บาท

ไม่ว่าสินค้าคุณจะมีราคาเท่าไหร่ก็ตาม

นั่นหมายความว่า หากสินค้าคุณมีราคาสูงกว่า 2000 บาทแล้ว คุณมีทางเลือกดังนี้

1. ทำใจ รอลุ้นว่าสินค้าคุณจะยังอยู่ดียามที่เปิดกล่องออกมาหรือไม่ สวดมนต์ภาวนาให้สินค้าแคล้วคลาดปลอดภัย ท่องนะโม 3 จบใส่คาถาดีที่ได้จากพระเกจิดังก่อนบรรจุสินค้าลงกล่อง(ถ้าคุณคือคนขาย) หรือสาธุ สาธุ ก่อนจะเปิดกล่องสินค้า

2. ซื้อประกันเพิ่มก่อนสินค้าจะถูกส่งออกไป บริษัทผู้รับจ้างขนส่งเหล่านี้ จะมีบริการเพิ่มความคุ้มครองสินค้าตามราคาจริงที่คุณแจ้งไป แต่ต้องจ่ายค่าประกันเพิ่ม เวลาเปิดกล่องมา เจอของแตกเสียหาย ก็เคลมให้เขาจ่ายตามราคาจริงที่ได้เลย ไม่ว่าจะค่าซ่อม (ถ้าซ่อมได้แบบที่พี่เบิร์ดบอก) หรือค่าเครื่องที่คุณซื้อมา

3. ถ้าไม่อยากจ่ายเพิ่ม แล้วก็ไม่อยากลุ้น ก็ต้องแพคสินค้าให้ดี พันและหุ้มห่อสินค้าราวกับว่าคุณกำลังพันมันเป็นมัมมี่ตัวอ้วน (ย้ำ อ้วนมากกก) จากนั้นยัดทุกอย่างที่จะประคับประคองสินค้าคุณลงไปในกล่อง ไม่ว่าจะเป็นเม็ดโฟม พลาสติกกันกระแทก เศษกระดาษฝอย คิดประหนึ่งส่าสินค้าคุณคือ "ไข่" แพคอย่างไรไม่ให้ "ไข่แตก" ดูแลมันราวกับ "ไข่ในหิน" รับรองไม่แตกแน่นอน ลองดูได้เลย

อ้อ ไม่ต้องเขียนประโยคทั้งหลายแหล่บนกล่องเพื่อเตือนเจ้าหน้าที่ขนส่งหรอกนะ อย่างเช่น "ขอร้องล่ะ อย่าโยน" "ห้ามเตะ กูแช่งนะ" "ระวังแตก กูไหว้ล่ะ" บลา บลา บลา เพราะมันไม่มีใครรับประกันว่าเขียนแล้วของจะไม่แตกเสียหาย ตราบใดที่คุณแพค "ไข่" ไม่ดี

ทั้งนี้ แต่ละบริษัท จะมีเงื่อนกำหนดต่างกัน คุณจึงควรตรวจสอบก่อนทุกครั้ง

อ้อ สินค้าไม่ทุกประเภทที่เขารับประกันความเสียหายนะ อย่าง แก้ว แหวน เงิน ทอง เพชร แก้ว กระเบื้อง กระจก

รู้อย่างนี้แล้ว ก็รักษาสิทธิ์ตัวเอง โวยวายให้ถูกต้อง ไม่ผิดตัว

กับ กูรู้ กูรู ลอจิสติกส์

วันศุกร์ที่ 15 กรกฎาคม พ.ศ. 2559

แม่น้ำ 3 สาย กับการไหลของ logistics


ในกระบวนการลอจิสติกส์นั้น มีแม่น้ำอยู่ 3 สายที่จะไหลวนอยู่ภายในกระบวนการ และเป็นตัวบ่งบอกถึงความมีประสิทธิภาพในการจัดการลอจิสติกส์หรือไม่

1. แม่น้ำสายวัตถุ เป็นแม่น้ำของการไหลเริ่มต้นตั้งแต่ยังเป็นวัตถุดิบ ไหลเข้าสู่กระบวนการผลิต กระบวนการประกอบ จนกระทั่งออกมาเป็นสินค้าสำเร็จรูป และส่งมอบถึงมือลูกค้า

2. แม่น้ำสายข้อมูล นับเริ่มแต่การคาดการณ์ความต้องการลูกค้าของฝ่ายขาย ฝ่ายตลาด ระดมสรรพกำลังร่วมกับฝ่ายผลิต ฝ่ายวางแผน และฝ่ายอื่น ๆ ในองค์กรที่เกี่ยวข้องในการเตรียมวัตถุดิบ เครื่องจักร กำลังคน เครื่องไม้เครื่องมือต่าง ๆ ฯลฯ เพื่อให้สามารถผลิตสินค้าสำเร็จรูป พรอ้มที่จะส่งมอบให้กับลูกค้า โดยการที่จะได้ผลสำเร็จออกมานั้น ข้อมูลต่าง ๆ ต้องเชื่อมถึงกัน ไม่ขาดหายไม่ว่าจะส่วนใด ๆ และนี่เป็นการไหลที่สำคัญที่สุดในกระบวนการลอจิสติกส์ เพราะเป็นการเชื่อมโยงคนเข้าด้วยกัน การทำงานเป็นทีมจึงสำคัญมาก หากขาดข้อมูลแล้ว สาเหตุส่วนใหญ่ ล้วนแล้วแต่มาจากการทำงานไม่เป็นทีมเดียวกัน การไม่เข้าใจกัน เกิดการโทษกันไปมา ว่าข้อมูลตกหล่นอยู่ที่ใคร ใครไม่ให้ข้อมูล และอื่น ๆ อีกมากมาย

3. แม่น้ำสายการเงิน แน่นอน วัตถุดิบซื้อมา กำลังคนจ้างมา เครื่องจักรซื้อมา สินค้าขายไปได้เงิน สต๊อคในกระบวนการก่อให้เกิดเงินที่หายไป รวมถึงเวลาที่ใช้ไปอย่างเกินพอดี ก็คือเงินที่ควรจะได้มา สินค้าที่เก็บในสต๊อค ยังไม่ได้ขายออกไป ก็คือเงินที่น่าจะได้ แต่ยังไม่ได้สักที รายจ่าย มากกว่า รายรับ บริษัทก็เจ๊ง พนักงานก็ตกงาน ดังนั้น ในการไหลของกระบวนการลอจิสติกส์ในส่วนของเงินทองนั้น การทำให้ รายรับ มากกว่า รายจ่าย เป็นสิ่งที่เราทุกคนอยากได้ จะทำได้อย่างไร ก็คือการจัดการลดต้นทุนที่ไม่ควรเกิดทั้งหลาย เช่น สินค้าที่ผลิตมามากเกินความต้องการ สินค้าจมอยู่ในสต๊อค ขายไม่ได้ หรือของออกน้อยกว่าของเข้านั่นเอง วัตถุดิบสั่งซื้อมามากเกินกว่าที่ต้องการผลิต เกิดสต๊อควัตถุดิบบวม เสียต้นทุนการจัดเก็บ ของผลิตออกมาน้อยกว่าที่ตลาดต้องการเพราะคาดการณ์ความต้องการตลาดไม่ถูกวิธี ฯลฯ ทั้งหมดนี้ ล้วนแล้วแต่ทำให้เกิดภาระทางต้นทุนทั้งสิ้น

สุดท้ายแล้ว ทั้ง 3 สายนี้ ต้องมาบรรจบกันพอดี

หากต้องการให้การจัดการลอจิสติกส์มีประสิทธิภาพ ควรเริ่มจากการพิจารณาการไหลของแม่น้ำทั้ง 3 สายในบริษัทว่า มีแม่น้ำสายไหน ที่ขาดตอน สายไหนบ้างที่มีตะกอนทับถม สายไหนบ้างที่เซาะพังตลิ่ง จนสิ่งแวดล้อมรอบข้างเดือดร้อน

กูรู้ กูรู ลอจิสติกส์ โดย อ.อินทิรา สิทธิเวช
https://www.facebook.com/LogisticsGooRoo

วันพุธที่ 13 กรกฎาคม พ.ศ. 2559

ใครบ้างในบริษัทที่ต้องเกี่ยวข้องกับคลังสินค้า


ใครบ้างในบริษัทที่ต้องเกี่ยวข้องกับคลังสินค้า

1. ฝ่ายคลังสินค้า แน่นอน งานหลักตัวเอง จะไม่เกี่ยวข้องได้อย่างไร คงไม่ต้องอธิบายมาก ละไว้ในฐานทีเข้าใจ

2. ฝ่ายขนส่ง ของเข้า-ออกคลัง ก็ต้องมีขนส่ง จะขนเองหรือจ้างคนข้างนอกขนให้ก็ได้ ปกติแผนกนี้ บางครั้ง แฝงตัวเป็น 1 ในพนักงานคลังสินค้าที่ทำหน้าที่อย่างอื่นด้วย เนื่องจากมีปริมาณการขนส่งไม่มากและไม่บ่อย แต่ในหลายองค์กร จะแยกแผนกนี้ออกมาโดยเฉพาะ เนื่องจากต้องมีการติดตามสินค้าให้ถึงมือลูกค้าอย่างปลอดภัยและมั่นใจว่า ลูกค้าได้รับความพึงพอใจในสินค้าที่สั่งซื้อ

3. ฝ่ายขาย สินค้าจะออกจากคลังได้ ต้องได้รับคำสั่งซื้อ ซึ่งหนีไม่พ้นแผนกขาย ของจะล้นคลัง หรือจะไม่พอให้ขาย ส่วนหนึ่งก็มาจากฝ่ายขายนี่แล ว่าจะมีการคาดการณ์ยอดขายแม่นมากน้อยแค่ไหน ถ้าเริ่มต้นคาดการณ์ยอดขายไม่ถูก เช่นคิดว่าจะขายได้เยอะ เลยสั่งมารอไว้มาก ของล้นคลัง หรือคิดแบบดูถูกตัวเอง ว่าคงขายไม่ได้มาก เลยสั่งมาเก็บไว้น้อย พอขายจริง ดันขายเก่ง ขายได้เยอะ ของไม่พอขายซะงั้น ดังนั้น ฝ่ายขายจึงมีความสำคัญกับคลังสินค้ามากโขทีเดียว

4. ฝ่ายวางแผน หากเป็นโรงงาน ฝ่ายนี้มีความสำคัญในการวางแผนจำนวสินค้าที่ต้องเก็บในคลัง จะเก็บมากเก็บน้อย ต้องมีจำนวนของขั้นต่ำไว้มั้ย ซึ่งการจะตัดสินใจได้นั้น ฝ่ายวางแผนต้องมีการประชุมร่วมกันกับฝ่ายขายด้วย

5. ฝ่ายจัดซื้อจัดหา อุปกรณ์ เครื่องทุ่นแรง เครื่องไม้ เครื่องมือใช้สอย ต้องอาศัยฝ่ายนี้ในการจัดซื้อจัดหามา

6. ฝ่ายบุคคล หัวใจสำคัญอีกหน่วยงานหนึ่งต่อความอยู่รอดของคลังสินค้า

7. ฝ่ายบัญชี จำนวนสินค้าที่ต้องรายงานต่อกรมสรรพากรเมื่อยามต้องมีการตรวจนับสินค้าให้ตรงกับรายงานที่ส่งให้กรม ก็ต้องฝ่ายนี้แผละที่เข้ามาเกี่ยวข้อง แถมสำคัญซะด้วย เพราะถ้าจำนวนสินค้าเข้า-ออกมาทั้งปี ไม่ตรงกันแล้วละก็ ต้องหยุดกิจกรรมทุกอย่าง และมีตรวจหาสาเหตุกันยกใหญ่เลยทีเดียว (ถ้าไม่อยากยุ่งยากแล้วละก็ คลังสินค้า ต้องบันทึกสินค้าเข้า - ออก อย่าให้หลุดแม้สักชิ้นเดียว)

8. ฝ่ายบริหาร คลังสินค้าจะเดินหน้าไปได้อย่างดีหรือไม่ นโยบายจากฝ่ายบริหารมีความสำคัญมาก บางองค์กรเห็นคลังสินค้าเป็นหน่วยงานไม่สำคัญ แท้ที่จริงแล้ว ทุนหาย กำไรหด สินค้าไม่ครบ สินค้าหาย ของดีกลายเป็นของเก่าเก็บ คลังสินค้าเกี่ยวข้องด้วย ลูกค้าจะพอใจใช้บริการต่อหรือไม่ คลังสินค้าก็มีส่วนช่วยกำหนด ฝ่ายนี้จึงมีความเกี่ยวข้องเป็นอย่างยิ่งในการกำหนดทิศทางธุรกิจ ต้นทุนที่เกิดขึ้น (ให้ไม่จม) เพิ่มความพึงพอใจลูกค้า (ให้ลูกค้าได้รับของถูกต้อง ถูกที่ ถูกเวลา)

กูรู้ กูรู ลอจิสติกส์ โดย อ.อินทิรา สิทธิเวช

วันอังคารที่ 12 กรกฎาคม พ.ศ. 2559



Sales and Operation Planning หรือ S&OP คืออะไร
S&OP คือกระบวนการจัดการโลจิสติกส์เริ่มต้นที่เป็นการร่วมกันคิดและวางแผนระหว่างหัวหน้างานแต่ละฝ่ายที่เกี่ยวข้องกับการขายและการผลิต โดยมุ่งเน้นให้สามารถตอบสนองความต้องการลูกค้าได้สูงสุด ในขณะที่บริษัทพร้อมให้บริการโดยไม่เกิดการชะงักงันในการดำเนินงาน

หัวข้อในการประชุมเพื่อหาแนวทางการทำงานร่วมกันมีอะไรบ้าง

1.ข้อมูลการพยากรณ์ความต้องการสินค้าของลูกค้า จากฝ่ายขาย ซึ่งเป็นข้อมลสำคัญในการวางแผนการขาย, แผนการผลิต, แผนการเก็บสินค้าคงคลัง, แผนการเตรียมวัตถุดิบ, รายการสินค้าค้างส่ง, แผนการนำสินค้าใหม่ออกตลาด, แผนค่าใช้จ่ายและงบต่างๆ

2.รีวิวหรือทบทวนความต้องการสินค้าของลูกค้าว่ามีเปลี่ยนแปลงหรือไม่ แผนการจัดการทรัพยากรในการผลิตต่อการเปลี่ยนแปลงดังกล่าว

3.การทำข้อตกลงร่วมกันกรณีมีการเปลี่ยนแปลงแผนใดข้างต้น มีสิ่งใดเกิดผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงทั้งหลาย ความพร้อมสู่การเปลี่ยนแปลง

4.ผลการดำเนินงานตามที่ได้วางแผนว่าเป็นไปตามแผนมากน้อยแค่ไหนบ้าง
แม้ S&OP เป็นเพียงกระบวนการประชุมร่วมกัน แต่ผลจากการประชุมมีความสำคัญอย่างยิ่งต่อการทำงานที่ต้องดำเนินไป หากการประชุมไม่ประสบผล เนื่องจากไม่ได้ข้อสรุปแล้วละก็ กระบวนการโลจิสติกส์ทั้งระบบจะพบกับความวุ่นวายที่หนีไม่พ้นการแก้ปัญหาเฉพาะหน้าหรือการโต้เถียงโยนความผิดกันไปมาในระหว่างแผนกแน่นอน
ผู้บริหารคิด พนักงานปฏิบัติ
ผู้บริหารไม่คิด พนักงานไม่ปฏิบัติ
กูรู้ กูรู ลอจิสติกส์ กับ อ.อินทิรา สิทธิเวช
https://www.facebook.com/LogisticsGooRoo

ติดตามอ่านเรืองอื่น ๆ อีกมากมายได้ที่นี่ 
https://gooroologistics.blogspot.com

วันจันทร์ที่ 11 กรกฎาคม พ.ศ. 2559

พนักงานคลังสินค้า มีหน้าที่หลัก ๆ อะไรบ้าง


พนักงานคลังสินค้า มีหน้าที่หลัก ๆ อะไรบ้าง

1. รับของเข้า
พนักงานคลังสินค้ามีหน้าที่ในการรับสินค้าเข้าคลัง จากรถขนส่ง ตรวจสอบความถูกต้องของเอกสารที่แนบมากับสินค้า ใบวางบิล รวมถึงตรวจสภาพสินค้าว่ามีเสียหายหรือครบตามที่ได้รับแจ้งหรือไม่

2. เชี่ยวชาญในการใช้อุปกรณ์ในคลัง
แน่นอนว่า สินค้าที่เข้ามาในคลัง ไม่ใช่เพียงแค่ชิ้น หรือสองชิ้น แต่มีจำนวนมาก ซึ่งต้องมีอุปกรณ์ช่วยในการขนย้ายจากรถบรรทุกเข้าคลังสินค้า เช่น รถโฟล์คลิฟต์ รถยกพาลเลท บันไดลาก สายพานลำเลียง เป็นต้น ดังนั้นแล้ว พนักงานในคลังต้องมีหน้าที่ในการฝึกฝนการใช้อุปกรณ์เคลื่อนย้ายเหล่านี้ให้ชำนาญ และอย่างระมัดระวัง ไม่ให้เกิดอุบัติเหตุขึ้นได้

3. แยกแยะสินค้าตามประเภทเพื่อจัดเก็บ
ในคลังสินค้า ไม่ได้เก็บสินค้าประเภทเดียวกันทั้งหมด แต่มีหลากหลายชนิด หลากหลายจุดจัดเก็บ พนักงานคลังจึงมีหน้าที่ในการแยกแยะสินค้าที่ได้รับจากภายนอกตามกลุ่มประเภทสินค้า ตามเลขที่จุดจัดเก็บ เพื่อให้จัดเก็บได้ถูกที่ และรวดเร็ว

นอกจากนั้น เมื่อต้องมีการส่งสินค้าออกไปยังลูกค้า พนักงานคลังสินค้าอาจมีระบบการหยิบสินค้าในคลังแบบ Batch คือหยิบสินค้าตามจำนวนสั่งซื้อทั้งหมด โดยยังไม่แยกแยะตามใบสั่งซื้อ เมื่อพนักงานคลังหยิบมาแล้ว ก็มีหน้าที่ในการจัดแยกสินค้าตามใบสั่งซื้อ ตรวจสอบให้ถูกต้องก่อนนำส่งลูกค้าต่อไป

4. จัดเตรียมเอกสาร
การนำสินค้าเข้า-ออกจากคลังสินค้านั้น ต้องมีการทำเอกสารกำกับ ควบคุมสินค้าด้วย นอกจากนั้นแล้ว ยังต้องมีการทำเอกสารบันทึกสินค้าเสียหาย สินค้าหมดอายุ สินค้าเคลื่อนไหวช้า สินค้าที่เตรียมกำจัด ฯลฯ

5. จัดเก็บสินค้าเข้าคลัง
หลังจากรับสินค้าจากผู้ขนส่งและตรวจสอบความถูกต้องเรียบร้อยแล้ว พนักงานคลังสินค้ามีหน้าที่ในการจัดเก็บสินค้าเข้าไปยังจุดที่สินค้านั้น ๆ ได้ถูกกำหนดสถานที่เก็บ โดยต้องจัดทำป้ายสินค้า บอกรายละเอียดวันเวลาในการรับเข้า รวมถึงอัพเดทข้อมูลในระบบให้ถูกต้องตรงกัน

6. จัดเตรียมสินค้าเพื่อส่งออก
เมื่อมีคำสั่งซื้อเข้ามา พนักงานคลังสินค้ามีหน้าที่ในการหยิบและจัดสินค้าตามรายการ บรรจุ ตรวจสอบความถูกต้อง และบันทึกสินค้าออกในระบบ จากนั้น ส่งสินค้าตามเส้นทางการขนส่งไปยังลูกค้า

7. รักษาความถูกต้องของสินค้าในคลัง
หัวใจสำคัญที่สุดในคลังสินค้า คือการมีสินค้าคงคลังถูกต้องตรงกับการบันทึกสินค้าเข้า-ออก นั่นคือ หน้าที่ของพนักงานคลังสินค้าอย่างหนึ่งคือ ต้องมีการตรวจนับสินค้าทุกวัน โดยจำนวนที่นับได้จะต้องเท่ากับตัวเลขคงเหลือในระบบเสมอ

กูรู้ กูรู ลอจิสติกส์ โดย อ.อินทิรา สิทธิเวช
https://www.facebook.com/LogisticsGooRoo

วันศุกร์ที่ 8 กรกฎาคม พ.ศ. 2559

การบันทึกข้อมูลเป็นเลือดไหลเวียนสำคัญกับ logistics


เรื่องสำคัญที่มักจะถูกมองข้าม เพราะเห็นเป็นสิ่งเล็กน้อย แต่เชื่อหรือไม่ ว่าการบันทึกข้อมูล เป็นต้นตอปัญหาสำคัญอย่างหนึ่งต่อประสิทธิภาพการจัดการลอจิสติกส์ในองค์กร

กระบวนการลอจิสติกส์อย่างหนึ่งคือการไหลของข้อมูล ซึ่งข้อมูลจะไหลไปไหนต่อไหน ก็ต่อเมื่อคนทำงานใส่มันลงไปในกระบวนการ ถ้าคนไม่ใส่ ข้อมูลก็จะกลายเป็นมวลสาร ที่ล่องลอยอยู่ในอากาศเท่านั้นเอง แต่ถ้าใส่แล้วไม่ถูกต้อง ก็เหมือนสั่งข้าวกะเพราไก่ ไข่ดาว แต่ได้ข้าวกะเพราไก่ ไข่เจียวนั่นแหละ

มีครั้งหนึ่ง ได้เคยเข้าไปให้คำปรึกษาด้านการปรับปรุงประสิทธิภาพคลังสินค้าแก่องค์กรหนึ่ง หลังจากที่ได้รวบรวมข้อมูล ข้อเท็จจริงต่างๆ แล้ว สิ่งที่ค้นพบสาเหตุของความวุ่นวายและการทำงานซ้ำซ้อนในคลังไม่ใช่เรื่องระบบคลัง เพราะมีบาร์โค้ด มีสต๊อคการ์ด มีโลเคชั่น แต่สิ่งที่ไม่มีคือพนักงานไม่บันทึกข้อมูลในระบบอย่างถูกต้อง บางครั้งผ่านไปเป็นอาทิตย์แล้วค่อยมาบันทึกกันที่หลัง บางครั้ง แก้ตัวเลขกันเอง บางครั้ง ข้อมูลที่บันทึกไม่เคยตรวจสอบว่าถูกต้องหรือไม่ อย่างนี้การไหลของข้อมูล ก็จะกลายเป็นการกักข้อมูล ใครจะต้องนำข้อมูลไปใช้ต่อโดยเฉพาะฝ่ายขาย ก็ได้ข้อมูลแบบผิด ๆ ไป สุดท้าย ก็กลายเป็นปัญหาใหญ่ ทะเลาะกันไม่สิ้นสุด

เหมือนน้ำท่วมแหละ ถ้ามีทางให้น้ำไหล น้ำก็จะไปของมันเรื่อย ๆ แต่ถ้ามีใครกักน้ำไว้ เมื่อน้ำไม่มีทางไป มันก็จะมากขึ้น มากขึ้น จนท่วม เดือดร้อนกัน โทษกันไปมา

การบันทึกข้อมูลจึงมีความสำคัญอย่างไร บ้าง

เซลล์รู้ว่ามีของอะไรให้ขาย และอะไรไม่มี

เซลล์รู้ว่าของมีต้องขายเท่าไหร่ และจะส่งให้ลูกค้าได้เมื่อไหร่

โรงงานรู้ว่าต้องผลิตมาเติมเต็มในคลังให้เท่าไหร่ เพื่อให้พอขาย เวลาที่ลูกค้าอยากได้

จัดซื้อรู้ว่าต้องสั่งวัตถุดิบเข้ามาเมื่อไหร่ เพื่อให้โรงงานผลิตสินค้าได้

วางแผนรู้ว่าต้องประสานงานเมื่อไหร่ให้มีวัตถุดิบพร้อมผลิตและมีของให้เซลล์ขาย

ผู้บริหารรู้ว่าเงินจมกับสินค้าในคลังเท่าไหร่ ซื้อวัตถุดิบมาตุนมากไปหรือเปล่า ของค้างในโรงงานมากแค่ไหน และสำคัญ มีกี่ออเดอร์ที่ส่งลูกค้าไม่ทันตามที่ลูกค้าอยากได้ จนอาจทำให้เสียรายได้

หากไม่มีข้อมูล คุณก็ตอบคำถามข้างต้นไม่ได้ เมื่อตอบไม่ได้ คุณก็ไม่รู้ว่าปัญหามันอยู่ตรงไหนกันแน่

หลายองค์กร ไม่สร้างความตระหนักให้กับพนักงาน ว่าการบันทึกข้อมูลมีความสำคัญมากแค่ไหน ต้องทำรวดเร็วแค่ไหน การปล่อยให้เวลาเนิ่นนานแล้วจึงมาบันทึกข้อมูลนั้น มีผลกระทบอย่างใหญ่หลวงอย่างไร เพราะผู้ที่เป็นหัวหน้างานหรือผู้บริหารไปมองเรื่องอื่นที่เห็นว่าสำคัญกว่า เช่น มีของในสต๊อคเท่าไหร่ดีถึงจะพอขาย ของในสต๊อคต้องไม่ล้นจนทุนจม เป็นต้น

ดังนั้นแล้ว คำถามที่ต้องถามหากองค์กรของคุณกำลังต้องการปรับปรุงประสิทธิภาพด้านลอจิสติกส์ ก็คือ ข้อมูลที่คุณมีถูกต้องหรือไม่ และอัพเดทล่าสุดแล้วหรือยัง

เรื่องเล็กน้อยที่มองข้าม แต่ก็อาจทำให้เลือดไหลหมดตัวได้

กูรู้ กูรู ลอจิสติกส์ โดย อ.อินทิรา สิทธิเวช
https://www.facebook.com/LogisticsGooRoo

วันพุธที่ 6 กรกฎาคม พ.ศ. 2559

5 สาเหตุหลัก เพลิงไหม้ในคลังสินค้า


5 สาเหตุหลัก เพลิงไหม้ในคลังสินค้า

1. ไฟฟ้าลัดวงจร
ดูเหมือนจะเป็นผู้ต้องสงสัยอันดับแรกของทุกเหตุการณ์ไฟไหม้เลย ทำไมไฟฟ้าถึงลัดวงจร ก็เพราะอาจมีการใช้ไฟมากไป ใช้ไฟจากเต้าเดียวกันมากไป ใช้ไฟฟ้าผิดแรงไฟ ฯลฯ (สาเหตุจริง ๆ ของไฟฟ้าลัดวงจร คงต้องถามจากผู้เชี่ยวชาญด้านไฟฟ้าอีกที)

2. บุหรี่
คนสูบก็ตาย คนไม่สูบก็ตาย ไม่ใช่เพียงแค่จากควันบุหรีเพียงอย่างเดียวซะแล้ว เพราะก้นบุหรี่ ที่ทิ้งไว้ ทั้งไม่ดับ และดับไม่สนิท ก็เป็นสาเหตุให้ติดไฟจนลามไปยังคลังได้ถ้าที่สูบบุหรี่อยู่ไม่ห่างจากคลังในระยะปลอดภัย

3. วัตถุอันตราย
คลังเก็บสินค้าประเภทวัตถุอันตราย จะมีกฏหมายบังคับให้ติดตั้งและวางผังคลัง เพราะมีโอกาสในการเกิดเพลิงไหม้ได้ง่าย เช่นสิ่งก่อกำเนิดไฟอย่างบุหรี่ แบตเตอรี การเสียดสีกันของสินค้า น้ำมัน ขอแนะนำเป็นอย่างยิ่งว่าคลังของท่านอย่าได้พยายามหลีกเลี่ยงการป้องกันอันตรายจากเพลิงไหม้ เพียงเพื่อไม่อยากเสียเงินมากเลย

4. สภาวะอากาศที่เปลี่ยนแปลง
อากาศที่ร้อนระอุในคลังเป็นหนึ่งในสาเหตุของเพลิงไหม้ โดยที่คนทำงานมักจะประมาท ไม่นึกถึง เวลาพนักงานรู้สึกร้อน ก็จะเดินไปยังจุดที่ทำให้ตัวเองเย็นขึ้น เลี่ยงจุดที่มีอากาศร้อน แต่สินค้าที่เราเก็บไว้ ไม่สามารถเคลื่อนย้ายตัวเองได้ ดังนั้นแล้ว ถ้าไม่หมั่นตรวจอุณหภูมิในคลังให้ดี หรือไม่สังเกตอากาศรอบ ๆ สินค้าที่มีความเสี่ยง โอกาสเกิดเพลิงไหม้ก็มีสูง

5. คน
ความประมาทเลินเล่อของคน เป็นสาเหตุอันดับหนึ่งในการเกิดเพลิงไหม้ โดยเฉพาะพนักงานที่ทำงานในคลังมานานจนเกิดความชินชากับสภาพแวดล้อมที่ตนอยู่ มองข้ามสิ่งที่ผิดปกติ จนเป็นเรื่องปกติแห่งความชาชิน เลยไม่ตระหนักถึงอันตรายที่เกิดขึ้น เพราะคิดว่า ทุกวันก็ปกติดี ไม่เห็นจะไหม้ มันก็คงไม่ไหม้หรอก (มั๊ง) หรือถ้าไหม้จริง ๆ ก็คงดับทัน นี่แหละหนา คนถึงเป็นสาเหตุหลัก

ที่สำคัญ คลังสินค้าส่วนใหญ่ น้อยนักที่จะมีอบรมการป้องกันเพลิงไหม้ น้อยนักที่จะสำรวจถังดับเพลิงว่าใช้ได้หรือเปล่า น้อยนักทีจะมีถังดับเพลิงเพียงพอตามขนาดของพื้นที่คลังสินค้า และน้อยนักที่จะองค์กรจะสร้างความตระหนักในอันตรายและสาเหตุเพลิงไหม้ให้กับพนักงานในคลัง

เพลิงไหม้ป้องกันการลุกลามได้ ถ้าไม่ประมาท

ขอบคุณ ภาพข่าวเพลิงไหม้คลังเก็บยางรถยนต์ของบริษัทหลิงหลง ในนิคมเหมราช

กูรู้ กูรู ลอจิสติกส์ โดย อ.อินทิรา สิทธิเวช

วันจันทร์ที่ 4 กรกฎาคม พ.ศ. 2559

5 ต้นทุนลึกลับในการนำเข้าส่งออก เรื่องไม่เป็นเรื่องที่อาจเป็นเรื่องเข้าก็ได้


5 ต้นทุนลึกลับในการนำเข้าส่งออก เรื่องไม่เป็นเรื่องที่อาจเป็นเรื่องเข้าก็ได้

1. ความผิดพลาดของผู้ขนส่ง
เชื่อหรือไม่ นี่คือต้นทุนแอบแฝงที่เกิดขึ้น ในขณะที่คุณไม่รู้ตัว ความผิดพลาดของผู้ขนส่ง ทำให้คุณเสียเงินและเสียเวลาอย่างไม่ควร ไม่ว่าจะเป็นการทำ L/C ผิด จองเรือไม่ถูก packing list หาย สินค้าตกเรือ เปิดตู้มีปัญหา เอกสารไม่ครบ ฯลฯ สิ่งเหล่านี้ ล้วนแล้วแต่เกิดจาก human error หรือความผิดพลาดของคน ไม่ใช่ระบบ ซึ่งหากทำงานแบบมืออาชีพ ความรอบคอบและใส่ใจในการทำงานของพนักงานมีความสำคัญมากที่สุด.

2. สัญญาไม่เป็นสัญญา
เมื่อธุรกิจของคุณมีการเติบโตขึ้นจากวันแรกที่ได้ว่าจ้างผู้รับเหมาในการจัดการสินค้าให้คุณนั้น แน่นอนว่า ค่าใช้จ่ายก็จะเพิ่มขึ้นตามจำนวนกิจกรรมที่เกิด ทว่า หากคุณรู้จักที่จะเจรจาต่อรองกับผู้รับเหมา ไม่มองข้ามมันไป คุณจะสามารถได้ส่วนลดเพิ่มขึ้นจากกิจกรรมที่เพิ่มขึ้น(อเมซิ่งไทยแลนด์) มองหาวิธีการทำงานที่เพิ่มคุณค่าให้กับสินค้าแต่มีการใช้เวลาและแรงงานที่น้อยลง ไม่จำเป็นเสมอไปว่า งานมากขึ้น ต้องควักกระเป๋าจ่ายมากขึ้น คนฉลาดเท่านั้น ที่จะชนะ

3. ข้อจำกัดในการขนส่ง
บางครั้ง ข้อจำกัดในการขนส่งสินค้าจากสายเรือหรือสายการบินต่าง ๆ ก็อาจทำให้คุณต้องเพิ่มค่าใช้จ่ายเพื่อทำตามกฎ แต่เงินที่คุณจ่ายเพิ่มไปนั้น ในบางครั้ง อาจไม่จำเป็น ถ้าหากคุณศึกษาหาข้อมูลดี ๆ พิจารณาสิ่งที่จะใช้ทดแทนกันได้ ต้นทุนเหล่านี้ หากใส่ใจมันบ้าง คุณจะเพิ่มเงินในกระเป๋าได้อย่างเหลือเชื่อ

4. รหัสสินค้าเสียภาษี
เชื่อหรือไม่ว่า ผู้นำเข้าสินค้าส่วนใหญ่ มักจะเสียภาษีในอัตราที่แพงเกินจริง เพียงเพราะระบุประเภทสินค้าเพื่อเสียภาษีไม่ถูกต้อง จากที่อาจจะเสียภาษีเพียง 1% กลับต้องเสียถึง 10% ดังนั้น ในการระบุรหัสสินค้านำเข้า ต้องระบุให้ถูกต้อง แม่นยำเข้าไว้ ไม่แน่ใจ สอบถามจนกว่าจะใช่ เก็บเงินได้อีกเยอะ

5. ประกันภัยสินค้า
ผู้ขนส่งสินค้าเกือบทุกราย จะมีการประกันภัยสินค้าเสียหาย โดยจะมีตั้งแต่ขั้นต่ำแบบฟรีประกันภัยจนถึงครอบคลุมการเสียหายตามจริง หากสินค้าคุณมีความบอบบางหรือราคาแพง อย่าเหนียวเงินในกระเป๋าด้วยการไม่ซื้อประกันเพิ่ม เพราะหากสินค้าเสียหายจริง ปัญหาที่ตามมาจะมากกว่าการจ่ายเพิ่มเพียงเล็กน้อย เช่น การโต้เถียงกับผู้ขนส่งสินค้า ความขุ่นข้องหมองใจกับผู้รับเหมา ความสัมพันธ์ในการทำธุรกิจ การเสียเวลา ที่สำคัญ ลูกค้าของคุณ จะได้รับผลกระทบอย่างแน่นอน ต้นทุนเพิ่มขึ้นอย่างไม่น่าจะเป็น

เรื่องไม่เป็นเรื่อง อย่าทำให้เป็นเรื่อง จะดีกว่า

ขอบคุณข้อมูลบางส่วนจาก http://www.globallogisticsmedia.com/
รวบรวม เรียบเรียง เพิ่มเติม โดย อ.อินทิรา สิทธิเวช
กับ กูรู้ กูรู ลอจิสติกส์

วันอาทิตย์ที่ 3 กรกฎาคม พ.ศ. 2559

ปัจจัยสู่ความสำเร็จในการจัดการโลจิสติกส์



ปัจจัยสู่ความสำเร็จในการจัดการโลจิสติกส์

1. ผู้บริหาร – เป็นปัจจัยสำคัญอย่างแรกที่จะบ่งบอกว่า การจัดการด้านโลจิสติกส์จะสำเร็จหรือไม่ เนื่องจากโลจิสติกส์เป็นกิจกรรมที่เกิดขึ้นในบริษัทที่มีหลาย ๆ ฝ่ายมาเกี่ยวข้องกัน โดยอาศัยการทำงานร่วมกันของทีมงานทุกคน หากว่าผู้บริหารเพียงแค่ให้นโยบายและความคิดรวมถึงความอยากที่จะทำ ทว่าถึงเวลาที่ได้ลงมือทำไปแล้ว เมื่อเจอทางตันที่ต้องการการตัดสินใจหรืออำนาจจากผู้บริหารในการสั่งการ กลับเจอการละเลยหรือเมินเฉย โลจิสติกส์ที่กำลังถูกเคี่ยวให้ข้น ก็คงปล่อยให้ตกตะกอนผ่านไปอย่างเสียเวลา แล้วก็จะต้องมาเริ่มใหม่อีกครั้ง วนลูปไม่มีที่สุดสิ้น เพียงแค่ผู้บริหารไม่ใส่ใจ

2. ทีมงาน – หมายถึงตัวแทนของแต่ละหน่วยงานที่เกี่ยวข้องมาร่วมกันปรับปรุงกระบวนการโลจิสติกส์ในกิจกรรมใด ๆ ก็ตาม อาทิ การปรับปรุงการจัดซื้อ ไม่ได้มีเพียงฝ่ายจัดซื้อ แต่ยังมีฝ่ายผลิต ฝ่ายวัตถุดิบ และฝ่ายบัญชีเข้ามาเกี่ยวข้องด้วย ดังนั้น หากตัวแทนจากแต่ละหน่วยงาน ไม่ได้รับความร่วมมือจากแผนกตนเองในการสนับสนุนข้อมูลและเวลา การทำงานคงจะสะดุดเป็นพัก ๆ ส่งผลให้เกิดความไม่ต่อเนื่องของการทำงาน

3. ข้อมูล – เป็นปัจจัยที่สำคัญที่สุดเลยก็ว่าได้ เนื่องจากโลจิสติกส์เป็นกระบวนการที่ทำงานโดยอาศัยข้อมูลเป็นหลัก หากว่าข้อมูลที่ได้ไม่ถูกต้อง ก็ทำให้การกำหนดแผนการปรับปรุงไม่ถูกไปด้วย หรือหากแต่ละแผนกมีข้อมูลที่ไม่ตรงกัน ก็ไม่สามารถรวมข้อมูลกันได้ เช่น คลังสินค้ามีข้อมูลสินค้าคงเหลือที่ไม่ตรงกับฝ่ายผลิตมี ทำให้ระบบการเติมเต็มสินค้าไม่ถูกต้อง มีสินค้าเหลืออยู่เยอะ ฝ่ายคลังบอกมีน้อย ฝ่ายผลิตผลิตสินค้าเติมในสต๊อก กลายเป็นสินค้าล้นคลัง หรือสินค้ามีเหลือน้อย ฝ่ายคลังบอกมีเยอะ ฝ่ายผลิตไม่ผลิตเติมเต็ม กลายเป็นไม่มีสินค้าส่งให้ลูกค้า สร้างความไม่พอใจให้ลูกค้าไปอีก ดังนั้น กว่าจะได้เริ่มปรับปรุงกระบวนการโลจิสติกส์เพื่อลดต้นทุน ลดเวลาที่สูญเสีย กลับต้องมาใช้เวลามากในการแก้ไขข้อมูลให้ตรงกันทุกฝ่าย

4.ความตั้งใจ – ที่สุดของที่สุด คือหากทุกคนนับแต่ผู้บริหารยันคนทำงาน ไม่มีความมุ่งมั่นตั้งใจในการช่วยกันปรับปรุงกระบวนการโลจิสติกส์เพื่อพัฒนาบริษัทให้มีกำไรมากขึ้น ต้นทุนลดลง แล้วละก็ การจัดการโลจิสติกส์ก็คงไม่ประสบความสำเร็จ เพราะทำคนก็คงทำงานกันแบบเนือย ๆ หรือตามคำสั่ง ไม่ช่วยกันคิด ไม่ช่วยกันหาแนวทางในการปรับปรุง ทุกอย่างก็คงอยู่ที่เดิม

5.การปรับปรุงอย่างต่อเนื่อง – สุดท้ายท้ายสุด โลจิสติกส์ไม่ใช่กิจกรรมที่หยุดนิ่ง ที่วันนี้ปรับปรุงแล้ว พรุ่งนี้จะไม่ต้องปรับปรุง หากจะพูดว่าโลจิสติกส์มีลมหายใจที่ทุกวันแม้เราจะหายใจเหมือนเดิม แต่อากาศที่หายใจเข้าไปไม่เหมือนเดิมก็ว่าได้ การทำงานทุกวันทั้งปี ไม่มีอะไรที่ซ้ำเดิม ความต้องการลุกค้ามีเปลี่ยนแปลง Supplier มีเงื่อนไขใหม่ ๆ การผลิตประสบปัญหาให้แก้ไขทุกวัน ดังนั้น อย่าหยุดพัฒนา อย่าหยุดปรับปรุง และอย่าหยุดนิ่งกับที่ เพราะเมื่อไหร่ที่เราหยุด จะมีคนอีกหลายคนที่ยังคงเดินผ่านเราไปเสมอ

กูรู้ กูรู ลอจิสติกส์ โดย อ.อินทิรา สิทธิเวช


https://www.facebook.com/LogisticsGooRoo

==แบไต๋เรื่องง่ายในการจัดการสินค้าคงคลัง ตอนที่ 2==


==แบไต๋เรื่องง่ายในการจัดการสินค้าคงคลัง ตอนที่ 2==

แน่นอนว่าการมีโปรแกรมช่วยในการจัดการสินค้าคงคลัง จะเป็นเรื่องง่ายที่ช่วยคุณอย่างมาก แต่ถ้าไม่มีสิ่งเหล่านี้ ต่อให้คุณเป็นผู้บริหารระดับเทพแค่ไหน คุณก็ปวดกบาลได้เหมือนกัน

เรื่องง่าย ๆ ที่ผู้ชายไม่รู้ เอ๊ย เรื่องง่าย ๆ ที่ใคร ๆ ก็ต้องรู้

การจัดการสินค้าคงคลังระดับเทพ อย่างน้อย ต้องประกอบไปด้วยสิ่งเหล่านี้

1. **การจัดกลุ่มสินค้า**
2. **ป้ายระบุสถานที่เก็บ**
3. **คำอธิบายสินค้า**
4. **รหัสสินค้า**

ทั้ง 4 ส่วน ได้กล่าวไปแล้วเมื่อวานนี้ วันนี้ เราจะมาบอกอีก 4 ส่วนที่เหลือ นั่นก็คือ

5. **หน่วยนับ**
ควรเป็นหน่วยนับเดียวกัน เช่น นับเป็นชิ้น กล่อง ถุง พาลเลท น้ำหนักเป็นกิโลกรัม กรัม ตัน คิว ขนาดพื้นที่เป็นตารางเมตร ตารางเซนติเมตร เมื่อมีคำสั่งซื้อ จะได้ส่งสินค้าออกไปได้ในปริมาณที่ถูกต้อง และมีผลต่อการกำหนดจำนวนสินค้าคงคลังที่ต้องเก็บน้อยที่สุด และมากที่สุดด้วย

6. **การตรวจนับสินค้า**
เมื่อมีการหยิบสินค้าออก เก็บสินค้าเข้าชั้น ก็ต้องมีการตรวจนับสินค้าว่าคงเหลืออยู่เท่าไหร่ กระบวนการตรวจนับควรจะง่าย ไม่ยุ่งยาก ซับซ้อน จำไว้ว่ายิ่งคนเราวุ่นวายกับตัวเลขจำนวนมากเท่าไหร่ ความผิดพลาดจะมากขึ้นเท่านั้น ดังนั้น กำหนดวิธีการตรวจนับที่สะดวก แต่แม่นยำเป็นการป้องกันความผิดพลาดได้ในระดับหนึ่ง

7. **โปรแกรมการค้นหาสินค้า**
คนสมัยก่อน จะใช้ปากกาจดรายการสิ่งของลงในสมุด เวลาจะค้นหาว่า สินค้าเก็บไว้ตรงไหน เหลือเท่าไหร่ ถ้าคนที่หาไม่ใช่คนที่บันทึก ก็จะใช้เวลานานกว่าจะได้คำตอบ ไม่เว้นแม้แต่การทำงานในปัจจุบัน แม้ว่า จะใช้โปรแกรม Excel เก็บข้อมูลไว้ เมื่อจะใช้สอบถามข้อมูลสินค้า ก็เพียงกด ctrl+F แล้วค้นหา แต่ถ้าคุณมีข้อมูลในนั้นมาก หรือย้อนหาข้อมูลสมัย2-3 ปีที่แล้ว Excel คุณอาจจะแฮงก์ จึงขอแนะนำให้มีโปรแกรมสินค้าคงคลังแบบง่าย ๆ ไว้ใช้ ดีกว่าการใช้ Excel ในการจัดการ ปัจจุบัน โปรแกรมจัดการคลังสินค้ามีการพัฒนาออกมามาก ธุรกิจเล็ก ๆ สามารถซื้อหาได้ในราคาถูกแสนถูก เผลอ ๆ มีออปชั่นเสริมเพียบ

8. ***ความสำคัญของพนักงานคลังสินค้า**
สุดท้าย ท้ายสุด กิจกรรมใด ๆ ในคลังสินค้า ย่อมยังต้องมีคนในการทำงาน ไม่ว่าจะเป็นการหยิบ การเก็บ การบันทึกข้อมูล การตรวจนับสินค้า เชื่อหรือไม่ว่า ความผิดพลาดทั้งหลายในคลังสินค้า เช่น ของหาย ของหาไม่เจอ ของเต็มคลัง ล้วนแล้วแต่มาจากคนทั้งสิ้น โปรแกรมไม่ช่วยให้ความผิดพลาดหายไป เช่นนั้นแล้ว คุณต้องจัดทำนโยบายการทำงาน และอบรมพนักงานคลังสินค้าให้ตระหนักถึงความสำคัญของสิ่งที่เขาต้องเกี่ยวข้องและตัวเขาเองที่มีต่อบริษัท ทุกกิจกรรมที่เขาทำอยู่ทุกวัน มีผลต่อการดำเนินธุรกิจทั้งสิ้น ซึ่งหมายถึงความอยู่รอดของบริษัทและตัวเขาเอง ดังนั้น พนักงานทุกคนในคลังสินค้า จึงมีความสำคัญที่ไม่ควรมองข้ามเป็นอย่างยิ่ง

(ทิ้งท้ายแม้แต่ที่ปรึกษาเก่ง ๆ โปรแกรมแพง ๆ ก็ไม่อาจช่วยปรับปรุงแก้ไข และเพิ่มประสิทธิภาพการจัดการสินค้าคงคลังของท่านได้ หากพนักงานของท่านไม่ให้ความร่วมมือ)

เรื่องง่าย ๆ กับการจัดการคลังสินค้า ที่ตอนนี้ คุณได้รู้แล้ว
และพรุ่งนี้ คุณจะคุยกับใคร ก็ รู้ เรื่อง
ขอบคุณข้อมูลจาก http://www.clearlyinventory.com/
แปลโดย อ.อินทิรา สิทธิเวช
กับ กูรู้ กูรู ลอจิสติกส์

วันศุกร์ที่ 1 กรกฎาคม พ.ศ. 2559

10 นิสัย ผู้นำยอดแย่



โลจิสติกส์ ไม่ใช่แค่การจัดการสินค้า วัตถุดิบ การผลิต แต่ความสำเร็จที่จะบริหารโลจิสติกส์ให้สำเร็จ ส่วนหนึ่งก็มาจากผู้นำที่ดี ที่จะนำพาให้องค์กรและทีมงาน บรรลุเป้าหมายได้อย่างสวยงาม

10 นิสัย ผู้นำยอดแย่ 

1. เป็นคนเจ้ายศเจ้าอย่าง
บางคนถือตัวว่าดีกว่าคนนั้น ดีกว่าคนนี้ โดยเอาตัวเองเป็นมาตรฐาน และมองคนอื่นไม่เก่ง ไม่มีดีเท่าตัวเอง โดยลืมคิดว่าไปว่า ทุกคนเริ่มจาก 0 เหมือนกันหมด คุณอาจมีเยอะกว่าด้วยมาจากการอาศัยบารมีคนอื่น ไม่ใช่ด้วยตัวเอง คุณอาจสวมหัวโขนเป็นหัวหน้า เป็นเจ้านาย ด้วยโอกาสคุณมากกว่า ไม่ใช่ด้วยความสามารถ คุณอาจจะมีความสามารถเยอะกว่า แต่คุณก็ไม่สามารถทำงานได้สำเร็จด้วยตัวคนเดียว คูณอาจทำงานสำเร็จด้วยตัวคนเดียว แต่ไม่ใช่ทั้ง 365 วัน 
เพราะงั้น ถอดหัวโขนที่คุณสวมอยู่เมื่อไหร่ คุณก็ไม่ต่างจากทุกคน ชนะเขาด้วยความรัก ความเข้าใจ ความเมตตา กรุณา ดีกว่าจะใช้อำนาจข่มคนอื่น

2. ชอบขัดคอคนและโอหัง
เห็นใครทำอะไร เป็นไม่ดีไปซะทุกอย่าง ความคิดข้าถูกอยู่คนเดียว ไม่เปิดใจฟังคนอื่น หน้าเชิดใส่ใครทุกคน 
เหนื่อยไหม ลองถามตัวเองดู มันจะเหนื่อยน้อยลงรึป่าว ถ้ามีคนมาช่วยกันคิด ช่วยกันแก้ปัญหา ช่วยกันหาทางออก

3. ไม่เอาธุระกับการบ้านการเมือง
ขี้เกียจ มุ่งสนใจแต่ตัวเอง งานส่วนรวมไม่เคยยุ่ง ไม่เคยยื่นมือเข้าไปอาสาให้ความช่วยเหลือ ถ้าตัวเองไม่ได้ผลประโยชน์ ก็ไม่คิดจะทำ
มนุษย์เป็นสัตว์สังคม คุณเกิดมา ได้อะไรมากมายจากโลกนี้ที่สร้างให้คุณอยู่และเติบโตมานาน คุณทำงานในองค์กร มีคนช่วยเหลือ สอนงานคุณ แบ่งปันงานให้คุณได้ทำ นับแต่วันที่คุณเข้ามาทำงาน คุณได้รับความช่วยเหลือมาแต่แรก ดังนั้น คุณก็ควรช่วยเหลือผู้อื่นกลับคืนไปบ้าง

4. เป็นคนหน้าซื่อใจคด ทำอะไรเห็นแก่ญาติพี่น้อง
ผลประโยชน์พวกพ้อง ญาติพี่น้องมาก่อน ไม่สนว่าสิ่งที่ทำมันผิด ลูกน้องที่ช่วยเหลือกันมาไม่เคยได้แบ่งปันจากลูกพี่ เพราะลูกพี่เอากลับไปแบ่งคนที่บ้าน แต่พอมีปัญหาในงาน กลับนึกถึงลูกน้องก่อนใคร นอกจากนั้น ยังไม่ซื้อสัตย์กับองค์กร โกงอะไรได้ ขอโกง จิ๊กอะไรในบริษัทกลับไปใช้ได้ ก็ขอสักหน่อย ถ้าเป็นจำนวนน้อย ๆ ก็คงไม่มีใครว่าอะไรมาก จริงหรือ??!! พอเล็กน้อยทำได้ เลยจิ๊กบ่อย ๆ ตลอด ๆ อันนี้ก็ควรหรือที่จะทำ


5. เป็นคนมีอุบายมาก แต่ความเด็ดขาดมีน้อย
เป็นพวกช่างวางแผน กำหนดแนวทางไว้มากมาย ซึ่งเป็นสิ่งที่ผู้นำควรทำ คือการวางแผนก่อนจะลงมือทำอะไร เพื่อมุ่งสู่ความสำเร็จ มีแผน 1 แผน 2 แผน 3 แผน... เต็มไปหมด แต่พอถึงเวลาที่แผนมีปัญหา กลับตัดสินใตไม่ได้ ว่าจะเปลี่ยนแผน หรือลุยต่อ จะตัดปัญหา หรือจบปัญหา จะแก้ไขยังไง หรือจะยกเลิกปฏิบัติการ พอปัญหามาก ๆ ก็เลี่ยงปัญหามันซะเลย ด้วยการโบ้ยให้คนอื่นช่วยแก้ หรือล้มกระดานมันซะ
แผนมีเยอะ แต่ที่มีไม่เยอะ คือความเด็ดขาด ฟันธงไปเลย ว่าจะไปทางไหนดี 

6.ชอบแต่คนมีหน้ามีตา
อันนี้เรียกอีกอย่างว่าพวก "เลีย" เลียแข้งเลียขา ใครมีหน้าตา ใครเป็นเซเลป ต้องไปเกาะเขา ไปทำให้เขารู้จัก ทำความสนิทสนม เพื่อให้ตัวเองได้ประโยชน์ หรือเพื่อให้คนอื่นเห็นว่า นี่ง่ะ คนนี้รู้จักฉันนะ ใครไม่มีชื่อเสียง ใครไม่ใช่เซเลป อย่าหวังว่าเราจะได้รู้จักกัน
อะอะ เกาะคนอื่นน่ะ มันไม่มั่นคงเท่าการยืนบนขาตัวเองนะ

7. เลี้ยงแต่คนใกล้ชิด
ความสำเร็จมาจากการทำงานเป็นทีม รางวัลต่าง ๆ ที่ได้มา ควรจะให้กับทุกคนที่ช่วยเหลือกัน ทำงานรวมกัน แม้แต่ละคนจะมีส่วนเกี่ยวข้องมากบ้างน้อยบ้าง แต่ทุกคนก็มีส่วนร่วม ผลตอบแทนจากความสำเร็จของทีม จึงไม่ใช่แค่คนใกล้ชิดเท่านั้น แต่คือของทุก ๆ คน
การลำเอียงหาคนใกล้ชิด เป็นการแบ่งพรรคแบ่งพวกแบบไม่ตั้งใจ 

8.ชอบฟังแต่คำยุให้รำตำให้รั่ว
คิดเองไม่เป็น วิเคราะห์และวางแผนไม่ได้ ใครว่าซ้ายดี ก็ไปซ้าย ใครว่าขวาดี ก็ไปขวา ใครฟ้องอะไร ก็เชื่อ ใครยกหางให้ ก็ส่งเสริมเขา ไม่เคยฟังเหตุผล ไม่เคยหาข้อเท็จจริง 
เจ้านายแบบนี้ ลูกน้องปกครองง่าย ไม่ต้องทำงานให้ดี แค่ปากดีก็สบายล่ะ

9. แยกผิดถูกไม่เป็น
ต่อจากข้อ 8 เลย ในเมื่อเชื่อเขาไปหมด ไม่ได้สืบหาข้อเท็จจริง ไม่ฟังความหลายด้าน อะไรที่ดีต่อตัวเอง นั่นคือถูก อะไรที่แย่กับตัว นั่นคือผิด สองมาตรฐานยังน้อยไป คนแบบนี้เรียกว่ามีหลายมาตรฐาน 
เป็นผู้นำคนอื่น มันต้องมีมาตรฐาน ควบคุมทุกคนด้วยกฎข้อเดียวกัน ไม่ใช่พวกฉัน กฎข้อนึง พวกอื่น ใช้กฎอีกข้อ เละสิครับ

10 ไม่รู้แจ้งในกลยุทธ์และตำราพิชัยสงคราม
เป็นผู้นำคนอื่น แต่วางกลยุทธ์สู่การบรรลุเป้าหมายไม่ได้ แล้วจะเป็นผู้นำไปทำไม ผู้ตามทุกคน กำลังรอว่าผู้นำจะพาไปทางไหน ถึงจะเจริญเติบโตทั้งองค์กร ตัวผู้นำ และตัวผู้ตาม รบทีไร ไม่แพ้ ก็ชนะแบบเจ็บตัว แสวงหาชัยชนะอย่างยากลำบาก 

ผู้นำแย่ ๆ อย่าได้ให้มาบริหารจัดการโลจิสติกส์เลย แค่นี้ต้นทุนก็เยอะ ของจะขายก็ไม่มี ของที่มีก็ไม่ได้ขาย กำจัดผู้นำแย่ ๆ เหล่านี้ออกไปจากองค์กรเถอะท่าน

กูรู้ กูรู ลอจิสจิกส์ กับ อ.อินทิรา สิทธิเวช
https://www.facebook.com/LogisticsGooRoo